อ.ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ศูนย์สารสนเทศทางยาและคุ้มครองผู้บริโภค คณะเภสัชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
บทความนี้เผยแพร่ในวารสารยา สมาคมร้านขายยา ฉบับกันยายน-ตุลาคม 2565 หน้า 20-22
เมื่อปี พ.ศ. 2563 ผู้เขียนเคยได้กล่าวถึงมาตรฐานและแนวปฏิบัติเกี่ยวกับการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ไว้ในวารสารวงการยา เดือนกันยายน-ตุลาคม 2563 หน้า 17-22 ซึ่งได้สรุปเนื้อหามาตรฐานหรือแนวปฏิบัติจากต่างประเทศซึ่งประกอบไปด้วยด้านสถานที่ ด้านบุคลากร ด้านระบบเทคโนโลยีสารสนเทศ ด้านประกันคุณภาพ นอกจากนี้ยังได้กล่าวถึงประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 56/2563 เรื่อง การกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ในสมัยที่ รศ.ดร.ภญ.จิราพร ลิ้มปานานนท์ เป็นนายกสภาเภสัชกรรม ตลอดจนแนวทางปฏิบัติในการใช้งานสื่อสังคมออนไลน์ของผู้ปฏิบัติงานด้านสุขภาพ
เนื่องจากในสมัยปี พ.ศ. 2563 สภาเภสัชกรรมยังไม่ได้มีการผลักดันให้การให้บริการเภสัชกรรมทางไกลเป็นข้อบังคับสภาเภสัชกรรม มีเพียงประกาศสภาเภสัชกรรมเท่านั้น จึงมีความกังวลว่าประกาศดังกล่าวจะมีสภาพบังคับได้เพียงใด ด้วยเหตุนี้ ปี พ.ศ. 2565 สมัยที่ รศ.(พิเศษ) ภก.กิตติ พิทักษ์นิตินันท์ เป็นนายกสภาเภสัชกรรม จึงได้ผลักดันให้ออกข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 เพิ่มเติมข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมในการกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล “เพื่อเป็นหลักประกันให้แก่ประชาชนว่าจะได้รับบริการที่ได้มาตรฐานจากผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่มีความรู้และความสามารถที่เหมาะสมในการให้บริการด้านวิชาชีพที่สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงและความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีและเป็นการส่งเสริมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ให้มีความทันสมัยมากยิ่งขึ้น
นิยามการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ครอบคลุมเพียงใด
ข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 ให้ความหมายการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล ดังนี้
“การให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) หมายความว่า การให้บริการเภสัชกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้คำปรึกษาด้านยา การค้นหาป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา การติดตาม การใช้ยา และการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับยา ซึ่งมีการสื่อสารกับผู้รับบริการโดยใช้ระบบเทคโนโลยี การสื่อสารทางไกล ทั้งนี้ ต้องกระทำโดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่ปฏิบัติหน้าที่ในหน่วยบริการของรัฐ หรือสถานพยาบาลตามกฎหมายว่าด้วยสถานพยาบาล หรือร้านยาตามกฎหมายว่าด้วยยา”
จากนิยามดังกล่าวจะพบว่า การให้บริการเภสัชกรรมครอบคลุมเพียงการให้คำปรึกษาด้านยา การค้นหาป้องกันและแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวเนื่องกับการใช้ยา การติดตาม การใช้ยา และการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องกับยา และไม่สามารถปฏิบัติงานนอกสถานที่ได้
นอกจากนี้ การให้คำปรึกษาระหว่างผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมหรือบุคลากรสาธารณสุขอื่นที่มีกฎหมายอื่นกำหนดไว้เป็นการเฉพาะ ไม่ถือว่าเป็นการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล ตามความมุ่งหมายของสภาเภสัชกรรม
มาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy)
ข้อบังคับสภาเภสัชกรรมว่าด้วยข้อจำกัดและเงื่อนไขในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรรม (ฉบับที่ 4) พ.ศ. 2565 วางหลักมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล ต้องมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
(1) ระบบการขึ้นทะเบียนผู้ให้บริการและผู้รับบริการ การบันทึกประวัติผู้รับบริการ เพื่อความถูกต้องและความปลอดภัยในการบริการ
(2) ระบบการบันทึกข้อมูลการให้บริการและติดตามผลการใช้ยาของผู้รับบริการในระบบดิจิทัล (Digital) เพื่อประสิทธิภาพในการให้บริการและเป็นหลักฐานในการคุ้มครองสิทธิ โดยต้องมีการรักษาความลับข้อมูลของผู้รับบริการ และผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมต้องได้รับความยินยอมจาก ผู้รับบริการในการเข้าถึงข้อมูลของผู้รับบริการได้
(3) ระบบ รูปแบบ วิธีการปฏิบัติงานของผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม เพื่อให้ได้มาตรฐานในการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
(4) ประเภทหรือชนิดของยาที่สามารถให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) ได้ เพื่อความปลอดภัยด้านยาและการเข้าถึงยาของผู้รับบริการ
(5) ระบบหลักประกันในการขนส่งเพื่อรักษาคุณภาพของยา
อย่างไรก็ตามข้อบังคับสภาเภสัชกรรมฉบับนี้ ยังไม่ได้ให้รายละเอียดว่าการปฏิบัติแต่ละข้อนั้นจะเป็นอย่างไร ซึ่งต้องมีประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 62/2565 เรื่อง แนวทางเกี่ยวกับมาตรฐานการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล ซึ่งคาดว่าจะต้องประกาศในราชกิจจานุเบกษา สามารถสรุปเบื้องต้นได้ตามภาพ

สิ่งที่ต้องติดตามต่อในอนาคต
ผู้เขียนคาดว่าแม้จะมีทั้งข้อบังคับสภาเภสัชกรรมและประกาศสภาเภสัชกรรมที่เกี่ยวข้องกับการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล แต่ก็ยังไม่มีความชัดเจนในเรื่องแนวทางปฏิบัติบางประการ ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไปในอนาคต เช่น
1. เนื้อหาของหลักสูตรเกี่ยวกับการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล จะต้องมีลักษณะอย่างไร สภาเภสัชกรรมจะกำหนดหัวข้อหรือรายละเอียดเบื้องต้นให้หรือไม่ หรือสภาเภสัชกรรมจะเป็นผู้อบรมเองหรือไม่ จะใช้เวลาในการพิจารณารับรองหลักสูตรนานเพียงใด ต้องมีค่าใช้จ่ายในการรับรองหลักสูตรหรือไม่
2. การขึ้นทะเบียนผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่จะให้บริการเภสัชกรรมทางไกลจะต้องทำอย่างไร ผ่าน e-service บนหน้าเว็บไซต์ของสภาเภสัชกรรม หรือสามารถดำเนินการผ่านโปรแกรมประยุกต์ (แอปพลิเคชัน; application) แล้วแอปพลิเคชันนั้นจะเชื่อมต่อกับข้อมูลของสภาเภสัชกรรมโดยอัตโนมัติ
3. การรับรองแอปพลิเคชันมีกระบวนการรับรองหรือไม่อย่างไร กระบวนการเชื่อมต่อระหว่างแอปพลิเคชันกับฐานข้อมูลของสภาเภสัชกรรมเป็นอย่างไร
4. เภสัชกรผู้ให้บริการเภสัชกรรมทางไกล สามารถเป็นผู้ปฏิบัติงานแบบพาร์ทไทม์ได้หรือไม่
5. คำแนะนำหรือแนวทางในการยินยอมให้เข้าถึงข้อมูลส่วนบุคคล
6. การบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับวัน เวลาการให้บริการ ประวัติผู้ป่วย ข้อมูลการให้บริการต่าง ๆ จะต้องเก็บข้อมูลไว้นานเพียงใด
7. การให้บริการจะต้องเห็นภาพเคลื่อนไหวและเสียงด้วยหรือไม่ เช่น ต้องเป็นระบบ video call หรือไม่ เพราะข้อกำหนดของแอปพลิเคชันระบุเพียงว่าสามารถรองรับการให้บริการในรูปแบบภาพเคลื่อนไหว เสียง และข้อความได้
8. แนวทางการควบคุมความถูกต้องของยาก่อนการส่งมอบด้วยการขนส่ง แนวทางการเลือกระบบขนส่งที่สามารถเชื่อถือหรือไว้วางใจได้
เอกสารอ้างอิง