ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
กฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 กำหนดให้ร้านยาแผนปัจจุบันทุกแห่งต้องปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (GPP) และในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ. 2565 ที่ผ่านมา ร้านยาทุกแห่งต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนทุกข้อ
สภาเภสัชกรรม แจ้งเตือนว่า จะปรับบทลงโทษพักใช้ใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นเวลา 2 ปี ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2565 เป็นต้นไป หากพบว่าเภสัชกรคนนั้นเจตนาหลีกเลี่ยงไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ตามเวลาที่แจ้งไว้ ส่งผลให้เภสัชกรกลุ่มหนึ่งแจ้งยกเลิกการเป็นเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการร้านยา
ร้านยาที่ปกติใช้บริการเภสัชกรแขวนป้ายแต่ไม่ไปอยู่ทำงานจริงก็มีความกังวลว่า หากภาครัฐบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังแล้ว ร้านยาของตนเองอาจไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาต ซึ่งอาจทำให้ตนเองต้องปิดกิจการร้านยา แล้วต้องไปทำธุรกิจอื่นแทน บางคนกังวลว่าหากปิดร้านยาซึ่งเป็นรายได้หลักของครอบครัวอาจทำให้ไม่มีเงินส่งลูกเรียน บางคนอายุมากแล้วไม่รู้จะไปทำอาชีพใด บางคนอ้างว่าหากร้านปิดร้านไปจะทำให้ประชาชนในชุมชนต้องเดือดร้อนเนื่องจากไม่สามารถหาแหล่งซื้อยาได้อีกทั้งโรงพยาบาลก็อยู่ห่างไกลจากชุมชน
ด้านการหาเภสัชกรที่จะมาอยู่ร้าน หลายคนให้ข้อมูลว่าตนเองก็จะพยายามทำให้ถูกต้อง แม้จะจ้างเภสัชกรด้วยเงินมากกว่า 45,000 บาทต่อเดือนก็ไม่สามารถหาเภสัชกรมาอยู่ประจำร้านได้ เภสัชกรบางคนขอเงินเดือน 60,000 บาทต่อเดือน หากให้เงินเดือนแค่ 45,000 บาท ก็ขอทำวันละ 6 ชั่วโมง หยุด 10 วันต่อเดือน หากจ้างด้วยอัตราเท่านี้ก็ไม่น่าจะจ้างไหว ตนเองก็อยู่ไม่รอดเหมือนกัน ขอให้สภาเภสัชกรรมช่วยประกาศหาเภสัชกรก็แล้ว ประกาศรับสมัครเภสัชกรก็แล้ว แต่ก็ไม่มีเภสัชกรมาสมัครที่ร้านยา เพราะเภสัชกรอาจไปทำร้านเชนหรือไปทำงานร้านที่มีทุนหนากว่าซึ่งสามารถจ้างเภสัชกรได้ หากยังไม่สามารถหาเภสัชกรได้ หรือไม่สามารถมีเงินจ้างเภสัชกรได้ ร้านของตนก็คงต้องปิดเช่นกัน ประชาชนก็ต้องเดือดร้อนเพราะไม่มีร้านยาใกล้บ้าน ส่วนร้านยาที่จ้างเภสัชกรได้เขาก็ต้องคิดราคายาและสินค้าในร้านสูงขึ้น ประชาชนก็ต้องจ่ายเงินมากกว่าเดิม บางคนก็เห็นว่า เภสัชกรจบใหม่ก็ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้ความต้องการของลูกค้า จ่ายยาก็ไม่หาย บางคนแม้ทำงานมาได้สักพัก ก็ไม่ค่อยต้อนรับลูกค้า ไล่ลูกค้าหมด เมื่อไม่มียอดขายจะเอาเงินที่ไหนมาจ้างเภสัชกร
ร้านยาที่ประสบปัญหากับการบังคับใช้วิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (GPP) เต็มขั้น ซึ่งไม่สามารถหาเภสัชกรได้ จึงสร้างกลุ่มไลน์รวมตัวกันเพื่อทำหนังสือร้องเรียน โดยรวบรวมทั้งรายชื่อร้านยาที่มีปัญหาและผู้แทนบริษัทยาที่จะได้รับผลกระทบหากร้านยาต้องปิดตัวลง เสนอไปยังกระทรวงสาธารณสุข นอกจากนี้ยังได้ส่งหนังสือไปยังกรรมาธิการทั้งในส่วนของสภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภา ตลอดจนนักการเมืองที่ตนรู้จัก เช่น รัฐมนตรีบางกระทรวง หัวหน้าพรรคการเมืองต่าง ๆ เพื่อขอผ่อนผันการบังคับให้มีเภสัชกรประจำร้านยาออกไป โดยล่าสุด ได้พยายามขอขยายเวลาให้มีเภสัชกรประจำร้านยาออกไปอีก 5 ปี โดยให้เหตุผลว่าร้านยา 5 พันแห่งได้รับผลกระทบ และต้องการให้ร้านยาที่ยังมีอยู่สามารถดำเนินกิจการต่อไปได้
(สถานการณ์ล่าสุด 1 ตุลาคม 2565)