เมื่อตำรวจมาตรวจร้านยา ทำอย่างไรดี

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

         ปกติตำรวจจะไม่เข้ามาที่ร้านยา เพราะหลายเรื่องเป็นเรื่องทางเทคนิค ไม่มีความรู้ด้านนั้นเพียงพอ ถ้าพลาด ตำรวจเองก็จะเป็นฝ่ายเสี่ยงเอง

         เมื่อวาน (22 มกราคม 2565) ถ้าได้ฟังจากการ Live ของสภาเภสัชกรรม แล้ว ก็จะทราบจากท่าน ผอ.ศูนย์จัดการเรื่องร้องเรียน อย. ว่า ตำรวจนั้นก็สามารถเข้ามาร้านยาได้ ส่วนสาเหตุที่เข้ามาในครั้งนี้ คงจะทราบด้วยกันในวันพรุ่งนี้ คือ 24 มกราคม 2565 ตอนนี้อย่าเพิ่งออกตัวแรงกันนะครับ รอเขาชี้แจงก่อน แต่สิ่งไหนที่พวกเราพอทำได้ก็พยายามเตรียมความพร้อมรอไปก่อนทั้งด้านข้อมูล สถานการณ์ วิชาการ กฎหมาย การเจรจาต่าง ๆ

         เมื่อเวลาตำรวจเข้ามา ก็มักจะดูเรื่องที่ไม่ซับซ้อนหรือไม่ต้องใช้ความรู้ทางเทคนิคมากนัก เช่น มีหรือไม่มีเภสัชกร (ดูจากการสวมเสื้อกาวน์ จากป้าย ดูจากฐานข้อมูลของสภาเภสัชกรรม) ขายยาอันตรายโดยไม่มีเภสัชกรไหม เพราะยาอันตรายข้างฉลากมันบอกอยู่แล้วว่าต้องมีคำว่า “ยาอันตราย” แล้วก็สิ่งที่ไปฝึกกับ อย. หรือ สสจ. จนชำนาญ (เช่น การตรวจร่วมกัน) คือ การดูยากลุ่มเสี่ยงพวกทรามาดอล เด็กซ์โตรเมธอร์แฟน ยาน้ำรับประทานแก้แพ้รุ่น1 กลุ่มสมรรถภาพทางเพศ ยาชุด ยาสเตียรอยด์ พื้นที่ที่ตำรวจมักจะไปตรวจ ลองปักหมุดจากข่าวก็จะทราบพื้นที่ที่ไปได้

หากตำรวจแจ้งว่าร้านยามีการกระทำผิดกฎหมาย

         1. ขอดูบัตรประจำตัวเจ้าหน้าที่ หากตรวจสอบในขณะนั้นได้ควรทำ (เพราะทำบัตรเดี๋ยวนี้จะแนบเนียน) 

         2. ตั้งสติ ทั้งฝ่ายเภสัชกรหรือฝ่ายตำรวจคุยกันอย่างสุภาพหรือให้เกียรติกัน อาจจะถามสาเหตุที่เขามาตรวจร้าน มีเหตุควรสงสัยไหม มีแผนในการตรวจหรือได้รับนโยบายมาให้ตรวจหรือไม่

         3. ควรอัดคลิปวิดีโอ หรือถ่ายทอดสดในขณะนั้น หรือเรียกใครมาได้ เรียกมาเลย

         4. ให้อยู่ได้ตรงเฉพาะพื้นที่ที่ปกติลูกค้าสามารถเข้าไปได้เท่านั้น การเข้ามาในพื้นที่หลังร้าน หรือพื้นที่ซึ่งปกติไม่ได้ให้ลูกค้าเข้ามา ต้องมีหมายค้น (เว้นแต่เราไปเชิญเขาเข้ามาเอง) 

         5. ตำรวจต้องพยายามมิให้มีการเสียหายและกระจัดกระจายเท่าที่จะทำได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 99 

         6. ความผิดที่มีโทษปรับอย่างเดียว มีอายุความ 1 ปี ตามประมวลกฎหมายอาญามาตรา 95 ตำรวจจะไปดูเรื่องราวเก่า ๆ ย้อนไปนาน ๆ เกิน 1 ปีไม่ได้

         7. ถ้าทำผิดจริง แม้ว่าความผิดนั้นจะมีโทษปรับอย่างเดียว ถ้าเป็นความผิดซึ่งหน้า ตำรวจก็มีอำนาจจับกุมได้ แนะนำไปโรงพักได้ ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาอาญา มาตรา 78 และมาตรา 80

         8. ถ้าจะให้ไปโรงพักจริง เราควรจะบอกว่าขอพบทนายก่อน หรือรอให้คนที่เราไว้ใจได้ไปกับเราด้วย ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 7/1 

         9. อย่าติดสินบนเจ้าหน้าที่ตำรวจ

         10. ถ้าตำรวจจะใส่กุญแจมือ บอกว่า พวกคดีที่มีโทษปรับอย่างเดียว ไม่มีโทษจำคุก ไม่ใช่คดีร้ายแรง ไม่มีพฤติการณ์หลบหนี การใส่กุญแจมือ จึงเป็นพฤติการณ์ที่เกินความจำเป็น ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 83

         11. หากคิดว่าตนเองไม่ผิด ให้ปฏิเสธ ดูว่ามีบันทึกการปฏิเสธไหม ไม่เซ็นยอมรับใดๆ ทั้งสิ้น แต่หากทำผิดจริงก็ควรยอมรับ โดยเฉพาะความผิดที่มีโทษปรับอย่างเดียว การเสียค่าปรับที่โรงพักต้องเสียค่าปรับสูงสุดตามกฎหมาย คดีจึงจะเลิกกัน ตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความอาญา มาตรา 37

ประเด็นการแก้ไขเชิงระบบ

  • พนักงานเจ้าหน้าที่ทั้งในส่วนพนักงานเจ้าหน้าที่ตาม พ.ร.บ.ยา หรือตำรวจ ต้องปฏิบัติงานอย่างเป็นธรรม เท่าเทียม
  • สภาเภสัชกรรมประสานให้การออกตรวจของพนักงานเจ้าหน้าที่ตำรวจ ต้องมีเจ้าหน้าที่ อย. หรือ สสจ.ไปด้วยเสมอ 
  • ความผิดที่ไม่ใช่ประเด็นที่เป็นภัยต่อสังคม การตรวจต้องให้เกียรติและเป็นมิตร (นอกจากนี้ เภสัชหญิงส่วนหนึ่งเกิดความกังวลว่าการตรวจมีลักษณะคุกคาม)
  • สมาคมหรือสภาวิชาชีพต้องช่วยดูแลสมาชิกที่ทำถูกต้องตามกฎหมาย แต่ได้รับความเดือดร้อน หรือได้รับความไม่เป็นธรรม
  • อบรมความรู้ทั้งด้านวิชาการ กฎหมาย แนวปฏิบัติต่าง ๆ ของเภสัชกร
  • สมาคมหรือสภาวิชาชีพต้องประสานกับฝ่ายบังคับใช้กฎหมาย เพื่อให้เกิดแนวปฏิบัติในทิศทางเดียวกัน
  • กฎระเบียบ แนวปฏิบัติบางอย่างต้องได้รับการแก้ไข เพื่อไม่ให้เกิดปัญหาต่อการเข้าถึงยาของประชาชน หรือไม่ให้เกิดช่องทางหลบเลี่ยงของผู้มีเจตนากระทำผิดตั้งแต่ต้น

ขอขอบคุณ ทนายความเอกสิทธิ์ ศรีสังข์ สำนักงานพิศิษฐ์ ศรีสังข์ ทนายความ สำหรับคำแนะนำกรณีที่เจ้าหน้าที่มาตรวจสถานประกอบการ

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ข่าวเภสัชกร และติดป้ายกำกับ คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

1 ตอบกลับที่ เมื่อตำรวจมาตรวจร้านยา ทำอย่างไรดี

  1. ธนาภร ฟักกิ่ม พูดว่า:

    การนำกฏหมาย พรบ.ยา มาใช้ควรให้ทำ ประชาพิจารย์..ทุกฝ่าย อย่างน้อย 4ฝ่าย1.นักกฏหมายที่มีคุณธรรม2.ฝ่ายเภสัชกร.3.ฝ่ายผู้ประกอบการร้ายา4 ฝ่ายประชาชนผู้บริโภค..ไม่ใช่อยู่ ก็อ้าง กม.ซึ่งกม.นั้น อาจล้าสมัยเกินไป…ในยุคโลกาพิวัฒซึ่งสามารถ ดูแลด้านสุขภาพ .และการรักษาโรค หลายๆเคส..ได้โดยมิต้องพบ เภสัช และแพทย์โดยตรงได้แล้ว..คร้าฟ

    ถูกใจ

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s