Telepharmacy: ความหมายและประเภท

อ.ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ศูนย์สารสนเทศทางยาและคุ้มครองผู้บริโภค
คณะเภสัชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์

 

บทความนี้เผยแพร่ในวารสารยา สมาคมร้านขายยา ฉบับเดือนสิงหาคม 2563

          เดิมการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจะต้องกระทำต่อหน้าเฉพาะผู้ป่วยหรือต้องมีการกระทำนั้นด้วยตนเอง แต่ด้วยข้อจำกัดบางอย่าง เช่น การขาดแคลนเภสัชกร การประสบอุปสรรคในการเดินทางหรือการอยู่ในข้อจำกัดที่ไม่สามารถเดินทางได้ ทำให้ไม่มีเภสัชกรคอยให้บริการหรือปฏิบัติหน้าที่ในสถานที่นั้นได้ จึงอาจทำให้การบริการเภสัชกรรมหรือการดำเนินการเกี่ยวกับยาเกิดการหยุดชะงัก เกิดความผิดพลาดจากการใช้ยา เกิดการขาดแคลนยา ประชาชนเข้าไม่ถึงยา หรือไม่ได้รับบริการจากเภสัชกรได้ เพื่อลดอุปสรรคหรือปัญหาดังกล่าวจึงทำให้เกิดแนวคิดของ telepharmacy ซึ่งทำให้เภสัชกรจากที่หนึ่งสามารถปฏิบัติงานในที่อีกหนึ่งได้โดยที่เภสัชกรนั้นไม่จำเป็นต้องไปปฏิบัติงานในสถานที่นั้น เพื่อเป็นการแก้ปัญหาการขาดแคลนเภสัชกร ทำให้ประชาชนได้รับความปลอดภัยในการใช้ยาและได้รับสิทธิและโอกาสในการเข้าถึงบริการสุขภาพ1

Telepharmacy คืออะไร

          คำว่า telepharmacy ประกอบด้วยคำว่า tele- และ pharmacy ซึ่งคำว่า tele- มีความหมายว่า ทางไกล ส่วนคำว่า pharmacy ในบริบทของคำนี้จะหมายถึงวิชาชีพเภสัชกรรม

          หากพิจารณาการใช้คำว่า tele- คำนี้จะแสดงถึงสิ่งที่อยู่ห่างกันโดยระยะทางแต่เสมือนสิ่งนั้นปรากฏขึ้นเฉพาะหน้า เมื่อใช้คำว่า tele- และ pharmacy เข้าด้วยกัน ความหมายของคำนี้ก็จะหมายถึง การประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมที่เภสัชกรอยู่ห่างกันโดยระยะทางแต่เสมือนว่ามีเภสัชกรปฏิบัติหน้าที่อยู่ตรงหน้า

          สมาคมเภสัชกรระบบสุขภาพแห่งสหรัฐอเมริกา (American Society of Health-System Pharmacists หรือ ASHP) ให้ความหมายของ telepharmacy ว่าเป็นการดูของเภสัชกรโดยสถานที่บริการเภสัชกรรมที่ขึ้นทะเบียนและเภสัชกรซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของสหรัฐอเมริกา ผ่านการใช้วิธีสื่อสารทางไกลหรือเทคโนโลยีอื่นต่อผู้ป่วยหรือผู้แทนซึ่งอยู่ห่างกันแต่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของสหรัฐอเมริกา2

          แม่แบบรัฐบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรมแห่งรัฐและแม่แบบกฎของสมาพันธ์คณะกรรมการเภสัชกรรมแห่งชาติ (Model State Pharmacy Act and Model Rules of the National Association of Boards of Pharmacy) ได้วางรูปแบบเนื้อหากฎหมายไว้ให้แต่ละรัฐได้นำไปปรับใช้ในการออกกฎหมายประจำรัฐนั้น ได้ให้ความหมายของ  Practice of Telepharmacy เป็นการปฏิบัติของสถานที่บริการเภสัชกรรมที่ขึ้นทะเบียนและเภสัชกรซึ่งอยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของสหรัฐอเมริกา ผ่านการใช้เทคโนโลยีเภสัชกรรมทางไกลระหว่างผู้รับอนุญาตและผู้ป่วยหรือผู้แทนซึ่งอยู่ห่างกันแต่อยู่ภายใต้เขตอำนาจศาลของสหรัฐอเมริกา โดยให้ถือว่าเกิดขึ้นภายใต้อำนาจศาลซึ่งเป็นทึ่อยู่ของผู้ป่วย เภสัชกร หรือร้านยา และการปฏิบัติเภสัชกรรมทางไกลจะต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบของคณะกรรมการเภสัชกรรมที่มีเขตอำนาจในพื้นที่นั้น3

          สภาเภสัชกรรมมีประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 56/2563 เรื่อง การกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy)4 ลงวันที่ 2 มิถุนายน พ.ศ. 2563 ซึ่งให้ความหมาย “การให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy)” คือ การบริบาลทางเภสัชกรรม (Pharmaceutical care) และการให้บริการที่เกี่ยวเนื่องแก่ผู้ป่วยหรือผู้รับบริการ โดยผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม สามารถสื่อสารกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการได้ด้วยเทคโนโลยีการสื่อสาร (Telecommunication) รวมทั้งการส่งมอบยา

ประเภทของระบบ telepharmacy

          การแบ่งประเภทของการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (telepharmacy) อาจจะแบ่งตามกิจกรรมที่เป็นลักษณะการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม รวมถึงการทบทวนและการติดตามการใช้ยา การจ่ายยา การรับรองการผสมยา การจัดการรักษาด้านยา การประเมินผู้ป่วย การให้คำปรึกษาทางคลินิก การให้ข้อมูลสารสนเทศทางยา แบ่งได้เป็น5

          1. การตรวจสอบคำสั่งการใช้ยาทางไกล (remote order-entry review) กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากโรงพยาบาลไม่มีเภสัชกรอยู่บริเวณนั้นตลอดเวลา เมื่อมีคำสั่งใช้ยาเกิดขึ้น เภสัชกรที่อยู่ในระยะห่างไกลจะดำเนินการทบทวนหรือตวจสอบคำสั่งการใช้ยาก่อนที่เจ้าหน้าที่โรงพยาบาลจะส่งมอบยานั้นให้กับผู้ป่วย

                   ตัวอย่าง แคนาดาเกิดระบบการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล เนื่องจากภาวะขาดแคลนเภสัชกรหรือโรงพยาบาลหนึ่งไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่ ทำให้เภสัชกรโรงพยาบาลอีกแห่งหนึ่งสามารถใช้ระบบนี้ช่วยเหลือโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงได้6

          2. การควบคุมการจ่ายยาทางไกล (remote dispensing) กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากสถานที่แห่งหนึ่ง เช่น โรงพยาบาลหรือร้านยา ไม่มีเภสัชกรอยู่ปฏิบัติหน้าที่อาจเนื่องมาจากการขาดแคลนเภสัชกรหรือเภสัชกรไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ เช่น ป่วยหรือลาหยุด เภสัชกรจากอีกสถานที่หนึ่งจึงใช้วิธีการสื่อสารระบบการประชุมทางไกล (videoconference) ซึ่งสามารถมองเห็นภาพและได้ยินเสียงระหว่างผู้ติดต่อสื่อสารกันได้ ได้ติดต่อเข้ามาเพื่อตรวจสอบรายละเอียดตามใบสั่งยา หรือกำกับดูแลผู้ช่วยเภสัชกรหรือพนักงานเทคนิคเภสัชกรรม (pharmacy technician) ให้หยิบยา เติมจ่าย หรือจ่ายยา จากนั้นเภสัชกรก็จะเป็นผู้สนทนากับผู้ป่วยเพื่อให้คำปรึกษาหรือแนะนำการใช้ยา ก่อนเภสัชกรจะออกจากระบบการสื่อสาร

                    ตัวอย่าง รัฐ Dakota ได้ริเริ่มออกกฎหมายในปี ค.ศ.2001 ให้เภสัชกรที่ได้รับใบอนุญาตสามารถอยู่ที่หนึ่งแล้วใช้วิธีการสื่อสารไปยังพนักงานเทคนิคเภสัชกรรม (pharmacy technician) และผู้ป่วยผ่านระบบการประชุมทางไกล (videoconference) ซึ่งสามารถมองเห็นภาพและได้ยินเสียงระหว่างผู้ติดต่อสื่อสารกันได้7

          กรณีต่อมา อาจเป็นกรณีที่มีใบสั่งยาจากโรงพยาบาลจากต้นทางซึ่งไม่มีเภสัชกรอยู่ให้บริการถูกส่งออกมายังหน่วยบริการเภสัชกรรมของอีกแห่งหนึ่งด้วยวิธีการทางอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเภสัชกรในหน่วยบริการเภสัชกรรมปลายทางจะเข้าถึงข้อมูลทางอิเล็กทรอนิกส์ของใบสั่งยานั้น มีการตรวจสอบความถูกต้องเหมาะสมของใบสั่งยา แล้วเข้าระบบเพื่ออนุมัติการสั่งจ่ายยาด้วยระบบอิเล็กทรอนิกส์ ไปยังตู้จ่ายยาอัตโนมัติของโรงพยาบาลที่ออกใบสั่งยา จากนั้นพยาบาลของโรงพยาบาลต้นทางจะรับยาและมีการตรวจสอบยาที่จ่ายและฉลากอีกครั้งก่อนนำยานั้นไปให้กับผู้ป่วย8

          นอกจากนี้ อาจมีกรณีที่เภสัชกรใช้วิธีการสื่อสารกับผู้ป่วยผ่านตู้จ่ายยาอัตโนมัติ (automated dispensing machine) ในขั้นตอนก่อนที่ผู้ป่วยจะได้รับยาจากตู้จ่ายยานั้น   

          3. การให้คำปรึกษาทางไกล (remote counseling) กรณีเกิดขึ้นเนื่องจากเภสัชกรจากสถานที่แห่งหนึ่ง เช่น โรงพยาบาลหรือร้านยา ติดต่อไปยังผู้ป่วยอีกสถานที่แห่งหนึ่งเพื่อให้คำแนะนำเกี่ยวกับการใช้ยา แนะนำการปฏิบัติตนของผู้ป่วยในขณะที่ใช้ยา หรือเพื่อติดตามเฝ้าระวังการใช้ยาของผู้ป่วย ในส่วนของยานั้น

          4. การรับรองการเตรียมยาปราศจากเชื้อที่ให้ทางหลอดเลือด (I.V. admixture verification) ในบางประเทศจะมีการกล่าวถึงเรื่องนี้ กรณีนี้เกิดขึ้นเนื่องจากกิจกรรมนี้เป็นงานที่ต้องทำโดยเภสัชกรซึ่งพนักงานเทคนิคเภสัชกรรมไม่สามารถดำเนินการให้ได้ แต่เมื่อเภสัชกรไม่สามารถปฏิบัติงาน ณ สถานที่จริงในขณะนั้น จึงต้องให้บุคคลอื่นหรือใช้หุ่นยนต์เตรียมยาให้ จำเป็นต้องมีการใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการติดตามหรือตรวจสอบว่ายาที่เตรียมนั้นมีขั้นตอนการเตรียมที่ถูกต้อง มีความถูกต้อง และมีความปลอดภัยที่จะนำไปใช้

          หากพิจารณาตามบริบทของประเทศไทย จะจำกัดขอบเขตการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (telepharmacy) ไว้ที่การสื่อสารกับผู้ป่วยหรือผู้รับบริการโดยตรง ยังไม่นำมาใช้กับกระบวนการควบคุมการผลิตยาจากระยะไกลในขณะนี้

ความแตกต่างระหว่างการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (telepharmacy) และการขายยาทางอินเทอร์เน็ต (internet pharmacy)

          กิจกรรมของการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (telepharmacy) และการขายยาทางอินเทอร์เน็ต (internet pharmacy หรือ online pharmacy) มีลักษณะบางอย่างที่คล้ายกัน จึงทำให้คนส่วนหนึ่งเกิดความสับสนว่าเป็นกรณีเดียวกัน ในกรณีนี้จะยกตัวอย่างสิ่งที่เป็นจุดเหมือนหรือจุดที่แตกต่างกันดังนี้9

          จุดเหมือน คือ เป็นการให้บริการด้านยา

          จุดต่าง คือ

                   (1) การขายยาทางอินเทอร์เน็ตอาจจะมีหรือไม่มีเภสัชกรก็ได้ แต่การให้บริการเภสัชกรรมทางไกลจำเป็นต้องมีเภสัชกรเสมอ เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของเรื่องนี้

                   (2) ช่องทางการสื่อสารของการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล ไม่จำกัดว่าจะต้องใช้ทางอินเทอร์เน็ตเท่านั้น แต่อาจใช้โทรศัพท์ ระบบการประชุมทางไกล หรือระบบอื่นที่สามารถติดต่อสื่อสารกันได้ แต่การขายยาทางอินเทอร์เน็ตจะมีอินเทอร์เน็ตเป็นช่องทางหลักในการติดต่อสื่อสาร

                   (3) การจำกัดขอบเขตการให้บริการ ขอบเขตการให้บริการเกี่ยวกับโรคหรือความเจ็บป่วยของการขายยาออนไลน์ขึ้นกับฐานข้อมูลของระบบ แต่ขอบเขตการให้บริการของการให้บริการเภสัชกรรมทางไกลขึ้นกับความรู้ของเภสัชกร

                   (4) การขายยาทางอินเทอร์เน็ตจะมีการจัดส่งยาออกไปนอกสถานที่ไปสู่ผู้ป่วยหรือประชาชน แต่การให้บริการเภสัชกรรมทางไกลไม่จำเป็นต้องส่งยาออกไปนอกสถานที่


เอกสารอ้างอิง

[1] Kimber MB, Peterson GM. Telepharmacy—Enabling Technology to Provide Quality Pharmacy Services in Rural and Remote Communities. Journal of Pharmacy Practice and Research. 2006; 36(2): 128-133

2 Alexander E, Butler CD, Darr A, Jenkins MT, Long RD, Shipman CJ, et al. ASHP Statement on Telepharmacy. Am J Health Syst Pharm. 2017;74: e236–41 .

3 National Association of Boards of Pharmacy® (NABP®). Model Pharmacy Act/Rules [Internet]. 2019 [cited Aug10, 2020]. Available from https://nabp.pharmacy/publications-reports/resource-documents/model-pharmacy-act-rules/

4 สภาเภสัชกรรม. ประกาศสภาเภสัชกรรมที่ 56/2563 เรื่อง การกำหนดมาตรฐานและขั้นตอนการให้บริการเภสัชกรรมทางไกล (Telepharmacy) [อินเทอร์เน็ต]. 2563 [เข้าถึงเมื่อ 1 สิงหาคม 2563]. เข้าถึงได้จาก https://www.pharmacycouncil.org/index.php?option=content_detail&view=detail&itemid=1817&catid=1

5 Schladetzky Z. The 4 Different Types of Telepharmacy [Internet]. 2018 [cited Aug10, 2020]. Available from https://blog.telepharm.com/the-4-different-types-of-telepharmacy

6 McDonald K. Practice Spotlight: A Telepharmacy Model of Care for Hospitals. The Canadian Journal of Hospital Pharmacy. 2009 Nov-Dec; 62(6): 510–511.

7 North Dakota State University. History and Progress of HRSA/OAT Telepharmacy Funding. [Internet]. 2013 [cited Aug10, 2020]. Available from https://www.ndsu.edu/telepharmacy/history/

8 Peterson CD, Anderson HC. Telepharmacy [Internet]. 2004 [cited Aug10, 2020]. Available from https://www.ndsu.edu/fileadmin/telepharmacy/TELEPHARMACY-TAD1.pdf

9 Sood, S. P., Prakash, N., Agrawal, R. K., & Foolchand, A. A. A. B. .Telepharmacy and ePharmacy: Siamese or discrete? International Journal of Healthcare Technology and Management. 2008:9(5/6); 485.

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ยา, วิชาชีพ และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Twitter picture

You are commenting using your Twitter account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s