อ.ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ศูนย์สารสนเทศทางยาและคุ้มครองผู้บริโภค
คณะเภสัชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์
วัตถุประสงค์
สามารถเข้าใจและประยุกต์ใช้พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขายยาและการโฆษณาขายยาได้
คำถาม รถฉายหนังขายยาตามหมู่บ้าน สามารถกระทำได้หรือไม่
เฉลย ก่อนอื่น จะต้องพิจารณาว่ารถขายหนังขายยานั้น มีลักษณะอย่างไร
รถฉายหนังขายยานั้น เป็นรถที่นำภาพยนต์ไปฉายตามหมู่บ้าน ระหว่างที่มีการฉายหนังหรือภาพยนต์นั้น อาจหยุดพักการฉายหนังเป็นช่วง เพื่อโฆษณาขายผลิตภัณฑ์ยา หรือต้องการให้ประชาชนผู้รับชมภาพยนต์ซื้อยาจากผู้ที่นำมาเร่ขายก่อนจึงจะฉายหนังหรือภาพยนต์ต่อไป
ดังนั้น การพิจารณาประเด็นของรถฉายหนังขายยา มีปัญหาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 หรือไม่นั้น จะพิจารณาใน 2 ประเด็นหลัก คือ ประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการโฆษณาขายยา และประเด็นที่เกี่ยวข้องกับการขายยา
ประเด็นที่ 1 การโฆษณาขายยา
ตามหลักพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 การโฆษณาขายยาจะต้องได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 88 ทวิ หากไม่ได้รับอนุญาตก่อนการโฆษณา จะถือว่าเป็นการโฆษณาขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต เนื้อหาของการโฆษณาต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรา 88 วิธีการโฆษณาต้องห้ามมิให้โฆษณาขายยาโดยไม่สุภาพ หรือโดยการร้องรำทำเพลง หรือแสดงความทุกข์ทรมานของผู้ป่วย ตามมาตรา 89 ห้ามมิให้โฆษณาโดยวิธีแถมพกหรือออกสลากรางวัล ตามมาตรา 90
ประเด็นที่ 2 การขายยา
ตามหลักพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 การขายยาจะต้องได้รับอนุญาต หากขายยาแผนปัจจุบันจะต้องได้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 หรือหากยานั้นเป็นยาแผนโบราณจะต้องได้รับใบอนุญาตขายยาแผนโบราณ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 46 เว้นแต่ยาที่ขายนั้นจะเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 ตามมาตรา 13(3) หรือเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 47(3)
หากไม่มีใบอนุญาตขายยาและยานั้นไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้าน ถ้ายาที่ขายเป็นยาแผนปัจจุบัน จะถือว่าขายยาแผนปัจจุบันโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 หรือยาที่ขายเป็นยาแผนโบราณ จะถือว่าขายยาแผนโบราณโดยไม่ได้รับอนุญาต ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 46
อย่างไรก็ตาม แม้ว่าจะมีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันหรือใบอนุญาตขายยาแผนโบราณแล้วก็ตาม ตามหลักการแล้วห้ามผู้รับอนุญาตขายยานอกสถานที่เว้นแต่เป็นการขายส่ง ถ้ายานั้นเป็นยาแผนปัจจุบันตามมาตรา 19(1) หรือยานั้นเป็นยาแผนโบราณ ตามมาตรา 53
กรณีมีใบอนุญาตผลิตยาหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันซึ่งจะได้รับใบอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันโดยอัตโนมัติตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 15 วรรคสอง หรือกรณีที่เป็นผู้ผลิตผู้นำเข้ายาแผนโบราณจะได้รับใบอนุญาตขายยาแผนโบราณด้วยตามมาตรา 49 วรรคสอง (แต่ก็ต้องห้ามขายนอกสถานที่ตามมาตรา 53)
ประเด็นที่ต้องพิจารณาต่อมา การขายยาให้กับประชาชนทั่วไปนั้น เข้าข่ายการ “ขายส่ง” หรือไม่ ถ้าถือว่าเป็นการขายส่งแล้ว ก็สามารถขายยานอกสถานที่ได้ แต่ถ้าไม่ใช่ก็จะถือว่าฝ่าฝืนบทบัญญัติเรื่องการขายยานอกสถานที่ ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) หรือมาตรา 53 แล้วแต่กรณี
เมื่อพิจารณานิยาม “ขายส่ง” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4 แล้ว ““ขายส่ง” หมายความว่า ขายตรงต่อผู้รับอนุญาตขายยา ผู้รับอนุญาตขายส่งยา กระทรวง ทบวง กรม สภากาชาดไทย องค์การเภสัชกรรม ผู้ได้รับอนุญาตให้ดำเนินการสถานพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรม ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาล ผู้ประกอบวิชาชีพการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบวิชาชีพการพยาบาลและการผดุงครรภ์ ผู้ประกอบโรคศิลปะแผนปัจจุบัน หรือผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์” แสดงให้เห็นว่า การขายส่งนั้นจะพิจารณาว่าผู้ที่ซื้อยาจากเรานั้นเป็นใคร ไม่พิจารณาจากจำนวนที่ขาย แม้ว่ายาที่ขายนั้นจะมีปริมาณมากเพียงใดก็จะไม่ถือว่าเป็นการขายส่งยาตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510
การขายยาให้กับประชาชนทั่วไปนั้น ไม่เข้าข่ายการขายส่งยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4 หากรถฉายหนังนั้นแม้ว่าจะมีใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันหรือใบอนุญาตขายยาแผนโบราณ หรือมีใบอนุญาตผลิตยาหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันซึ่งจะได้รับใบอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันโดยอัตโนมัติ หรือกรณีที่เป็นผู้ผลิตผู้นำเข้ายาแผนโบราณจะได้รับใบอนุญาตขายยาแผนโบราณด้วย ก็ห้ามขายยานอกสถานที่ ถ้ามีการขายนอกสถานที่เกิดขึ้น ประเด็นที่จะพิจารณาต่อมา มีดังนี้
(1) ถ้ายาที่ขายนั้นเป็นยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบันหรือผู้รับอนุญาตผลิตยาหรือนำเข้ายาแผนปัจจุบันซึ่งจะได้รับใบอนุญาตขายส่งยาแผนปัจจุบันโดยอัตโนมัติ ตามมาตรา 15 วรรคสอง จะฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1)
(2) ถ้ายานั้นเป็นยาแผนโบราณ ผู้รับอนุญาตขายยาแผนโบราณหรือกรณีที่เป็นผู้ผลิตผู้นำเข้ายาแผนโบราณซึ่งถือว่าได้รับใบอนุญาตขายยาแผนโบราณด้วยตามมาตรา 49 วรรคสอง จะฝ่าฝืนตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 53
สรุป รถฉายหนังขายยาตามหมู่บ้าน สามารถกระทำได้หรือไม่
- พิจารณาว่าหากมีการโฆษณาขายยาจะต้องได้รับใบอนุญาตโฆษณาขายยา ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 88 ทวิ นอกจากนี้เนื้อหาและวิธีการโฆษณาจะต้องไม่ฝ่าฝืนมาตรา 88 มาตรา 89 และมาตรา 90 ถ้าไม่ปฏิบัติตาม จะไม่สามารถกระทำได้
- พิจารณาว่ามีใบอนุญาตขายยาหรือไม่
2.1 กรณีที่ไม่มีใบอนุญาตขายยา ถ้ายาที่ขายนั้นเป็นยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันหรือยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ สามารถกระทำได้
2.2 กรณีที่ต้องมีใบอนุญาตขายยา ถ้ายาที่ขายนั้นไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันหรือยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ ต้องมีใบอนุญาตขายยา
2.2.1 ถ้ายาที่ขายไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านแผนปัจจุบันหรือยาสามัญประจำบ้านแผนโบราณ แล้วไม่มีใบอนุญาตขายยา หากยานั้นเป็นยาแผนปัจจุบัน ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 12 ถ้ายานั้นเป็นยาแผนโบราณ ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 46
2.2.2 กรณีที่มีใบอนุญาตขายยาหรือมีใบอนุญาตขายส่งยา ตามหลักการแล้วต้องขายในสถานที่ที่ได้รับอนุญาตเว้นแต่เป็นการขายส่ง แต่การขายให้กับประชาชน ไม่เข้าข่าย “ขายส่ง” ตามพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 4 หากยานั้นเป็นยาแผนปัจจุบัน ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 19(1) ถ้ายานั้นเป็นยาแผนโบราณ ถือว่าฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 53
หมายเหตุ กรณีนี้สามารถประยุกต์ใช้กับกรณีรถเร่ขายยาได้