ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ข่าวสารเกี่ยวกับเภสัชกรในช่วงสัปดาห์นี้ ยังคงเป็นเรื่องเกี่ยวกับร่างพระราชบัญญัติยา การเรียกคืนยา serratiopeptidase รายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง และบทบาทของเภสัชกรกับวัตถุอันตราย ดังนี้
1. ร่างพระราชบัญญัติยา พ.ศ. ….
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาชี้แจงว่า การแก้ไขร่าง พ.ร.บ.ยา ครั้งนี้ว่ามีวัตถุประสงค์เพื่อให้ประชาชนได้รับประโยชน์และปลอดภัยจากการใ้ช้ยา
อีกทั้งมีหนังสือด่วนที่สุดที่ สธ 1009.3/ว 10335 ลงวันที่ 10 สิงหาคม 2561 แจ้งว่าจะมีการชี้แจงในวันที่ 27 สิงหาคม พ.ศ.2561 นี้ ก่อนที่จะพ้นวาระในวันที่ 30 กันยายน และมีเลขาธิการคณะกรรมการอาหารและยาท่านใหม่ คือ นายแพทย์ธเรศ กรัษนัยรวิวงค์ จะเข้ามารับตำแหน่งในวันที่ 1 ตุลาคม 2561 นี้
แน่นอนว่าต้องมีเสียงคัดค้าน ล่าสุดในช่วงสัปดาห์นี้มีหนังสือคัดค้านร่างพระราชบัญญัติยาฉบับใหม่ จากชมรมเภสัชสาธารณสุขแห่งประเทศไทย ซึ่งลงนามโดย ภก.จิระ วิภาสวงศ์ประธานชมรม
สื่อมวลชนก็ได้มีการติดตามข่าวจากผู้ผลักดันเรื่องนี้อย่างต่อเนื่อง (เช่น ไทยโพสต์ 21 สิงหาคม พ.ศ. 2561 หน้า 8)
ขณะเดียวกัน สภาเภสัชกรรมจะหารือกับเครือข่ายวิชาชีพในวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2561 นี้ ณ เภสัชกรรมสมาคมแห่งประเทศไทย สุขุมวิท 38 (สถานี BTS ทองหล่อ)
ส่วนวงการอื่น ก็มีความเห็นเสนอให้ถอยคนละก้าวบ้าง ต้องเขียนให้ชัดว่าวิชาชีพไหนจะจ่ายยาได้บ้าง (ดูที่ https://www.hfocus.org/content/2018/08/16219)
2. ความคืบหน้าเกี่ยวกับยา serratiopeptidase
สำนักงานคณะกรรมการอาหารและยาให้ข่าวว่า ได้ให้ผู้รับอนุญาตการเรียกคืนยา serratiopeptidase เรียบร้อยแล้ว (ดู ยาลดบวม Serratiopeptidase จะมีขายได้ถึงวันไหน) ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 เดือน และปรับไม่เกิน 1,000 บาท แต่ในหนังสือดังกล่าว ใช้ข้อความไม่ชัดเจนว่า ผู้รับอนุญาตนั้น รวมถึงผู้รับอนุญาตขายยาหรือไม่ จึงต้องตีความเบื้องต้นว่าเฉพาะผู้รับอนุญาตผลิตยาแผนปัจจุบัน ผู้รับอนุญาตนำเข้ายาแผนปัจจุบัน ซึ่งมีทะเบียนตำรับยา serratiopeptidase เท่านั้น
3. การตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง
ขณะนี้ เภสัชกรสามารถตรวจสอบว่าตนเองนั้นสามารถใช้สิทธิเลือกตั้งในรูปแบบออนไลน์ หรือยังต้องใช้บัตรเลือกตั้งที่เป็นกระดาษ หรือขึ้นสถานะเป็นอย่างอื่น สามารถตรวจสอบได้โดยเข้าไปที่เว็บไซต์สภาเภสัชกรรม แล้วไปที่”ตรวจสอบรายชื่อผู้มีสิทธิเลือกตั้ง” หรือ https://www.pharmacycouncil.org/index.php?option=com_pharmacist_election
จากนั้นพิมพ์เลขใบประกอบวิชาชีพ หรือพิมพ์ชื่อ หรือนามสกุลลงไป จากนั้นกดค้นหา จะปรากฏข้อมูลว่าเป็น “e-voting” หรือเลือกตั้งผ่านระบบออนไลน์ หรือเป็นกลุ่มที่ใช้ “บัตรเลือกตั้ง”
4. บทบาทเภสัชกรกับวัตถุอันตราย
เภสัชกรนอกจากจะมีบทบาทในเรื่องยาแล้ว ยังมีบทบาทเกี่ยวกับวัตถุอันตรายด้วย ล่าสุดมีรายชื่อในกรรมการวัตถุอันตราย (เพียงแต่เราอาจไม่รู้ว่าเป็นเภสัชกร) ซึ่งมีทั้งฝั่งคัดค้านและไม่คัดค้านการใช้ พาราควอต คลอร์ไพริฟอส และไกลโฟเซต ซึ่งเป็นสิ่งที่ต้องติดตามต่อไป (ดูข้อมูลเบื้องต้นที่ Biothai)