ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ปรับปรุงล่าสุด 11 ธันวาคม 2560
บทความนี้เผยแพร่ครั้งแรกในวารสารยา สมาคมร้านขายยา ธันวาคม 2559 หน้า 37-39
ช่วงวันหยุดเทศกาลซึ่งเป็นช่วงเวลาแห่งความสุขและมอบสิ่งที่ดีให้แก่กัน หลายท่านตั้งใจส่งมอบกระเช้าของขวัญเพื่ออวยพรส่งมอบกำลังใจให้แก่กัน หลายท่านตั้งใจไปทำบุญด้วยการถวายสังฆทาน ผู้ประกอบการส่วนหนึ่งได้อำนวยความสะดวกโดยการจัดเตรียมกระเช้าของขวัญหรือชุดสังฆทานสำหรับลูกค้าของตน แต่ก็มักจะพบปัญหาว่าสินค้าที่นำมาจัดเตรียมนั้นมีปัญหาด้านคุณภาพ เป็นสินค้าที่หมดอายุ หรือมีลักษณะเป็นการเอาเปรียบผู้บริโภค ด้วยเหตุนี้หน่วยงานภาครัฐจึงได้มีความพยายามบังคับใช้กฎหมายหรือกำหนดมาตรการขึ้นมาเพื่อคุ้มครองผู้บริโภค แต่ก็ยังมีผู้ประกอบการส่วนหนึ่งยังไม่ทราบกฎระเบียบต่าง ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการจัดกระเช้าของขวัญและชุดสังฆทาน ส่งผลให้ถูกดำเนินคดีตามกฎหมาย ดังนั้น ผู้ประกอบการท่านใดมีความประสงค์จัดทำกระเช้าของขวัญและชุดสังฆทานเพื่อขาย มีสิ่งที่ควรทราบเบื้องต้น ดังต่อไปนี้
1. สิ่งที่นำมาจัดเพื่อขาย
สิ่งที่จะนำมาจัดกระเช้าของขวัญหรือชุดสังฆทานมีตั้งแต่ผลิตภัณฑ์อาหาร ยา หรือสินค้าอื่น ๆ ผลิตภัณฑ์ที่ใช้จะต้องเป็นผลิตภัณฑ์ที่ถูกต้องตามกฎหมาย เช่น ไม่เป็นผลิตภัณฑ์ที่ห้ามผลิต ห้ามขาย หรือห้ามนำเข้าในประเทศไทย หากเป็นผลิตภัณฑ์นำเข้าต้องมีการนำเข้าอย่างถูกต้อง มีฉลากเป็นภาษาไทยและมีข้อความตามที่กฎหมายกำหนดอย่างครบถ้วน
หากเป็นผลิตภัณฑ์ยา กรณีผู้ที่ไม่มีใบอนุญาตขายยา สิ่งที่นำมาจัดชุดสังฆทานได้มีเพียงแค่ยาสามัญประจำบ้านเท่านั้น วิธีการสังเกตเบื้องต้นว่ายาใดเป็นยาสามัญประจำบ้าน ข้างขวด แผง ซอง จะต้องเห็น ยาสามัญประจำบ้าน ซึ่งเป็นตัวหนังสือคำว่า “ยาสามัญประจำบ้าน” ในกรอบสี่เหลี่ยมสีเขียว หากไม่ใช่ยาสามัญประจำบ้านและไม่มีใบอนุญาตขายยาที่เกี่ยวข้องแล้ว จะเป็นการขายยาโดยไม่ได้รับอนุญาต
กรณีเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ร้านขายยาไม่สามารถขายได้ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 27(2) ฝ่าฝืนต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ กรณีผู้ประกอบการอื่นที่ไม่ใช่ร้านขายยา มีคำแนะนำว่าไม่ควรจัดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในกระเช้าของขวัญร่วมกับผลิตภัณฑ์อื่น เนื่องจากจะเข้าข่ายการกำหนดเงื่อนไขการขายในลักษณะที่เป็นการบังคับซื้อเครื่องดื่มแอลกอฮอล์โดยทางตรงหรือทางอ้อม ตามพระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551 มาตรา 30(5) ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 10,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ อีกทั้งยังต้องจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ในเวลาที่กฎหมายอนุญาตเท่านั้น
นอกจากนี้ควรพิจารณาถึงคุณภาพของผลิตภัณฑ์ด้วย ไม่นำผลิตภัณฑ์ที่ใกล้หมดอายุมาจัดกระเช้าของขวัญหรือชุดสังฆทาน หากสินค้านั้นหมดอายุในวันที่ขายอาจจะต้องรับผิดตามกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์นั้นได้
2. ฉลาก
หากนำอาหารมากกว่าหนึ่งชนิดหรือชนิดเดียวกันแต่มีหลายจำนวนซึ่งจัดรวมอยู่ในภาชนะเดียวกันที่มีการหุ้มห่อเพื่อจำหน่าย ไม่ว่าจะเป็นกระเช้า ตะกร้า กล่อง ถุง หรือภาชนะใดเป็นอาหารที่ต้องแสดงฉลาก ตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารจัดรวมในภาชนะ กำหนดให้ต้องมีฉลากภาษาไทย แสดงชื่อ ประเภท หรือ ชนิดของอาหารแต่ละรายการที่บรรจุ และแต่ละรายการนั้นต้องแสดงวัน เดือน ปี ที่หมดอายุหรือควรบริโภคก่อนด้วย หากแสดงฉลากไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 30,000 บาท ตามพระราชบัญญัติอาหาร พ.ศ.2522 มาตรา 51
แต่ถ้าเป็นสินค้าที่นำมารวมเป็นชุด ไม่ว่าด้วยวิธีการใด เพื่อขายให้นำไปถวายแด่นักบวชในพระพุทธศาสนา จะเข้าข่าย “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม” ตามประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ต้องแสดงฉลากภาษาไทยที่สามารถเห็นและอ่านได้อย่างชัดเจน โดยให้ระบุข้อความดังต่อไปนี้ด้วย คือ
(1) คำว่า “ชุดสังฆทาน หรือชุดไทยธรรม”
(2) รายการสินค้าที่ระบุขนาด มิติ ปริมาณ ปริมาตร น้ำหนัก จำนวน และราคาของสินค้า แต่ละรายการ
(3) ชื่อและสถานที่ตั้งของผู้ผลิตหรือผู้จำหน่ายชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรม
ตัวอย่าง
ผลิต/จำหน่ายโดย…………………………………………………..
เลขที่………………….ถนน…………………………………….แขวง………………………
เขต……………………..จังหวัด……………………รหัสไปรษณีย์……………….โทรศัพท์…………………..
(4) วันเดือนปีที่หมดอายุ หรือวันเดือนปีที่ควรใช้ก่อน ของสินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด
(5) วันเดือนปีที่บรรจุ
ตัวอย่าง
วันเดือนปีที่บรรจุ………/………………/………… วันเดือนปีที่หมดอายุ/วันเดือนปีที่ควรใช้ก่อนของ สินค้าใดสินค้าหนึ่งที่นำมารวมนั้นระบุว่าเร็วที่สุด………/……………………/……………….
(6) ราคารวมชุดจัดบรรจุที่ระบุหน่วยเป็นบาท
(7) คำเตือน กรณีชุดสังฆทานหรือชุดไทยธรรมใดที่มีการนำสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันจนทำให้มี สี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภคเนื่องในการใช้หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ให้ระบุคำเตือนด้วย เช่น “ใบชา ข้าวสาร สบู่ และผงซักฟอก อาจทำปฏิกิริยากัน จนทำให้มีสี กลิ่น หรือรส เปลี่ยนแปลงไป ซึ่งอาจเป็นอันตรายแก่ผู้บริโภค เนื่องในการใช้ หรือโดยสภาพของสินค้านั้นได้ ดังนั้น ผู้ใช้ควรแยกสินค้าที่อาจทำปฏิกิริยากันได้นั้นออกจากกันโดยเร็ว”
ตัวอย่างฉลากชุดสังฆทาน
กรณีไม่มีฉลากหรือฉลากชุดสังฆทานไม่ถูกต้อง ผู้ขายต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ ถ้าเป็นการกระทำของผู้ผลิตเพื่อขาย ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี หรือปรับไม่เกิน 100,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
3. การแสดงราคา
การแสดงราคานั้น ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารจัดรวมในภาชนะ ไม่ได้กำหนดเรื่องการแสดงราคาไว้ ส่วนประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก ให้แสดงราคาของสินค้า แต่ละรายการไว้ด้วย
อย่างไรก็ตามก็มีประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ กำหนดให้กระเช้าของขวัญ ชุดไทยธรรม หรือชุดสังฆทาน ต้องแสดงราคาปลีกของรายการสินค้า ขนาด น้ำหนักต่อหน่วย ปริมาณการบรรจุและราคาของสินค้าแต่ละรายการที่บรรจุ รวมทั้ง ค่าภาชนะบรรจุด้วย โดยต้องมีขนาดตัวอักษรและตัวเลข (FONT) ตั้งแต่ขนาด 16 ขึ้นไป หรือมีขนาดเทียบเท่า
กรณีไม่แสดงราคาหรือแสดงราคาไม่ถูกต้อง ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 10,000 บาท ตามพระราชบัญญัติว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ พ.ศ. 2542 มาตรา 40
_______________
เอกสารอ้างอิง
- พระราชบัญญัติควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ พ.ศ. 2551. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 125 ตอนที่ 33 ก วันที่ 13 กุมภาพันธ์ 2551 หน้า 34
- ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การแสดงฉลากของอาหารจัดรวมในภาชนะ. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 127 ตอนพิเศษ 142 ง วันที่ 14 ธันวาคม 2553 หน้า 1
- ประกาศคณะกรรมการว่าด้วยฉลาก ฉบับที่ 23 (พ.ศ. 2550) เรื่อง ให้ชุดสังฆทานและชุดไทยธรรมเป็นสินค้าที่ควบคุมฉลาก. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 124 ตอนพิเศษ 4 ง วันที่ 12 มกราคม 2550หน้า 12
- ประกาศคณะกรรมการกลางว่าด้วยราคาสินค้าและบริการ ฉบับที่ 45 พ.ศ. 2560 เรื่อง การแสดงราคาสินค้าและค่าบริการ. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 82 ง วันที่ 17 มีนาคม 3560 หน้า 152