ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 29 ประกาศในราชกิจจานุเบกษาวันที่ 27 พฤศจิกายน พ.ศ.2560 ซึ่งใช้บังคับเมื่อพ้นกำหนด 180 วันนับแต่วันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป (26 พฤษภาคม 2561)
ประกาศฉบับนี้ได้กำหนดสถานะของยาอันตรายบางรายการขึ้นใหม่ คือ ยาจำพวกซัลโฟนาไมด์ (Sulfonamides) ยาจำพวกปฏิชีวนะ (Antibiotics) ยาจำพวกป้องกันและรักษามาลาเรีย (Antimalarial drugs) ซึ่งเป็นผลมาจากนโยบายการจัดการปัญหาเชื้อดื้อยา
ประกาศฉบับนี้ไม่ได้มีอะไรใหม่มากนัก เพียงแค่กำหนดให้ยาในกลุ่มนี้ขั้นต่ำต้องมีสถานะเป็นยาอันตราย ตามเส้นทางที่ควรจะเป็น ซึ่งจะต้องขายในร้านขายยาแผนปัจจุบัน (ร้าน ข.ย.1) มีเภสัชกรควบคุมการขาย
เดิมอาจมีการยกเว้นยาบางตัวไม่เป็นยาอันตรายภายใต้เงื่อนไขบางอย่าง ได้แก่ (1) ทาลีลซัลฟาไทอะโซล (Phthalylsulphathiazole) ขนาด 500 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด (2) ซัลฟาเมทอกซาโซล (Sulphamethoxazole) ขนาด 400 มิลลิกรัม ผสมกับไตรเมโทพริม (Trimethoprim) ขนาด 80 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด หรือแคปซูล (3) ซัลฟาดอกซีน (Sulphadoxine) ขนาด 500 มิลลิกรัม ผสมกับไพริเมทามีน (Pyrimethamine) ขนาด 25 มิลลิกรัม ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดเม็ด (4) เพนิซิลลิน วี โปแตสเซียม (Penicillin V Potassium) ที่ผลิตขึ้นเป็นยาบรรจุเสร็จชนิดดรายไซรัป (Dry Syrup) ซึ่งในน้ำยา 5 มิลลิลิตร มีเพนิซิลลิน วี (Penicillin V) ขนาด 200,000 ยูนิต ซึ่งสามารถขายในร้านขายยาแผนปัจจุบันเฉพาะยาบรรจุเสร็จที่ไม่ใช่ยาอันตรายหรือยาควบคุมพิเศษ (ร้าน ข.ย.2) โดยไม่ต้องมีเภสัชกรควบคุมการขายได้
แต่ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 29 ก็ให้ยาเหล่านี้กลับมาเป็นยาอันตรายทั้งหมดโดยไม่มีเงื่อนไขยกเว้นอีก อย่างไรก็ตาม ประกาศกระทรวงสาธารณสุขฉบับนี้ก็ยกระดับการควบคุมยาปฏิชีวนะไม่ได้หมด เนื่องจากยังมียาปฏิชีวนะ (Antibiotics) สำหรับใช้เฉพาะที่ เช่น ยาที่ใช้กับหู ตา จมูก ปาก ทวารหนัก ช่องคลอด หรือท่อปัสสาวะ ยังคงยกเว้นไม่เป็นยาอันตรายได้
เอกสารอ้างอิง
ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ยาอันตราย ฉบับที่ 29. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 292 ง วันที่ 27 พฤศจิกายน 2560 หน้า 10