ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
เภสัชกรหลายคนอาจจะสงสัยว่า หากใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมสูญหาย หรือสภาพยับเยินจนใช้งานไม่ได้ จะทำอย่างไร
กรณีมีทางออกโดยการขอใบแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
การจะขอใบแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมได้ต่อเมื่อต้องเคยได้รับใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (ใบจริง) มาก่อนเท่านั้น
ใบแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพ ตามหลักเกณฑ์ในข้อบังคับสภาเภสัชกรรม ว่าด้วยการขึ้นทะเบียนและการออกใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบการวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2538 หมวดที่ 3 ข้อ 8 ระบุไว้ว่า “ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ผู้ใดที่ใบอนุญาตสูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ ให้ยื่นคำขอรับใบแทนใบอนุญาต ตามแบบ สภ.1”
ข้อความนี้บอกว่าอย่างไร
1. ผู้จะขอใบแทนใบอนุญาตได้ต้องเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม ซึ่งนิยาม “ผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม” ตามพระราชบัญญัติวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ.2537 หมายความว่า บุคคลซึ่งได้ขึ้นทะเบียนและรับใบอนุญาตเป็นผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมจากสภาเภสัชกรรม (นั่นคือบุคคลนั้นต้องเคยได้รับใบอนุญาตเรียบร้อยแล้ว)
2. ข้อความต่อมา ใช้คำว่า “ผู้ใดที่ใบอนุญาตสูญหาย หรือถูกทำลายในสาระสำคัญ” ยิ่งเป็นการตอกย้ำว่า ใบแทนใบอนุญาตนั้นจะมีได้ก็ต่อเมื่อผู้นั้นต้องเคยได้รับใบอนุญาตใบจริงมา ก่อนเท่านั้น
3. ไม่มีข้อความใดเลยที่บอกว่า ระหว่างที่รอใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมเป็นครั้งแรก (ใบจริง) ให้สามารถออกใบแทนใช้งานได้เทียบเท่าใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
ขั้นตอนการขอใบแทนใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม
– ยื่นหลักฐานที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ แบบ สภ.21, สำเนาทะเบียนบ้าน, หลักฐานใบประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม (ถ้ายังมีหลงเหลืออยู่) หรือถ้าไม่เหลือแล้วใช้หนังสือแจ้งความต่อพนักงานสอบสวน (ตำรวจ) รูปถ่าย 1 นิ้ว 2 รูป และเงินค่าธรรมเนียมตามกฎกระทรวงกำหนดค่าธรรมเนียมสำหรับผู้ประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม พ.ศ. 2557 จำนวน 500 บาท
– เลขาธิการสภาเภสัชกรรมรับคำขอและค่าธรรมเนียมใบแทนใบอนุญาตแล้ว จะพิจารณาเสนอนายกสภาเภสัชกรรมให้ออกใบอนุญาตให้แก่ผู้ขอ
– ใบอนุญาตที่ได้รับใหม่นี้ จะมีคำว่า “ใบแทน” ประทับด้านบนด้วยอักษรสีแดง บนแบบ สภ.18
ส่วนเภสัชกรที่เคยขอใบแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมมาก่อนแล้ว เมื่อตรวจสอบรายชื่อเภสัชกรในเว็บไซต์สภาเภสัชกรรมแล้ว จะขึ้นข้อมูลสถานะใบประกอบวิชาชีพว่า “ใบแทนใบอนุญาตประกอบวิชาชีพเภสัชกรรม”