กำหนดระยะเวลาร้านขายยาแผนปัจจุบันต้องปฏิบัติตาม GPP

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

 

          กฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ข้อ 23 – 24  ได้ผ่อนผันร้านขายยาแผนปัจจุบันซึ่งได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2557 ในการปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน (Good Pharmacy Practice : GPP) เพื่อให้โอกาสปรับตัวให้ได้ตามข้อกำหนดในวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนประเด็นต่าง ๆ ภายในระยะเวลาที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุขกำหนด อันเป็นหลักประกันให้ประชาชนได้รับบริการจากร้านยาที่มีคุณภาพ ได้รับความปลอดภัยในการใช้ยา

 

1. ร้านยาต้องปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนกรณีไหน เมื่อใด

          ขณะนี้ได้มีประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กำหนดระยะเวลาผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 กันยายน พ.ศ.2560 เป็นต้นไป กำหนดกรณีที่ร้านขายยาแผนปัจจุบันที่ได้รับอนุญาตก่อนวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2557 ต้องปฏิบัติตามเป็นลำดับขั้น คือ กรณีที่ต้องปฏิบัติให้ได้ภายในระยะเวลา 1 ปี กรณีที่ต้องปฏิบัติให้ได้ภายในระยะเวลา 3 ปี และกรณีอื่นที่เหลือซึ่งต้องปฏิบัติให้ได้ภายในวันที่ 25 มิถุนายน พ.ศ.2565 โดยให้ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ตลอดจนผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของสถานที่ขายยา ต้องดำเนินการปฏิบัติให้เป็นไปตามข้อกำหนดภายในระยะเวลา ดังต่อไปนี้

 

1.1 กรณีที่ต้องปฏิบัติภายใน 1 ปี

          ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ต้องดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน และข้อกำหนดด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการขายยา การเก็บและการควบคุมหรือการรักษาคุณภาพยา ให้เสร็จก่อน 1 กันยายน พ.ศ.2561 ดังนี้

          (1) ข้อกำหนดด้านสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้

          – สถานที่ขายยาต้องมีความแข็งแรงก่อสร้างด้วยวัสดุที่คงทนถาวรเป็นสัดส่วนชัดเจน

          – สถานที่ขายยาต้องถูกสุขลักษณะ สะอาด เป็นระเบียบเรียบร้อย มีการควบคุมป้องกันสัตว์แมลงรบกวน ไม่มีสัตว์เลี้ยงในบริเวณขายยา และอากาศถ่ายเทสะดวก

          – สถานที่ขายยาต้องมีสภาพเหมาะสมต่อการรักษาคุณภาพยา โดยในพื้นที่ขายยาและเก็บสำรองยา ต้องมีการถ่ายเทอากาศที่ดี แห้ง สามารถควบคุมอุณหภูมิให้ไม่เกิน 30 องศาเซลเซียส และสามารถป้องกันแสงแดดไม่ให้ส่องโดยตรงถึงผลิตภัณฑ์ยา

          – สถานที่ขายยาต้องมีแสงสว่างเพียงพอในการอ่านเอกสาร อ่านฉลากผลิตภัณฑ์ยาและป้ายแสดงต่าง ๆ ได้อย่างชัดเจน

          – บริเวณจัดวางยาอันตรายและยาควบคุมพิเศษในพื้นที่ขายยา จะต้องมีพื้นที่เพียงพอในการจัดวางยาแยกตามประเภทของยาและสามารถติดป้ายแสดงประเภทของยาได้ชัดเจนตามหลักวิชาการ และจัดให้มีวัสดุทึบ ใช้ปิดบังบริเวณที่จัดวางยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ สำหรับปิดในเวลาที่เภสัชกรหรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่ปฏิบัติหน้าที่ และจัดให้มีป้ายแจ้งให้ผู้มารับบริการทราบว่าเภสัชกรหรือผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่อยู่

          (2) ข้อกำหนดด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการขายยา การเก็บและการควบคุมหรือการรักษาคุณภาพยา ตามลักษณะและจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนด ดังนี้

          – ตู้เย็น จำนวน 1 เครื่อง (เฉพาะกรณีมียาที่ต้องเก็บรักษาในอุณหภูมิที่ต่ำกว่าอุณหภูมิห้อง) ในสภาพที่ใช้งานได้ตามมาตรฐาน มีพื้นที่เพียงพอสำหรับการจัดเก็บยาแต่ละชนิดเป็นสัดส่วนเฉพาะไม่ใช้เก็บของปะปนกับสิ่งของอื่น

          – ถาดนับเม็ดยา อย่างน้อย 2 ถาด ในสภาพใช้งานได้ดี และกรณีต้องมีการแบ่งบรรจุยากลุ่มเพนนิซิลิน หรือยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ หรือยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ทั้งนี้อุปกรณ์นับเม็ดยาสำหรับยาในกลุ่มเพนนิซิลิน หรือยากลุ่มซัลโฟนาไมด์ หรือยากลุ่มต้านการอักเสบชนิดที่ไม่ใช่สเตียรอยด์ (NSAID) ให้แยกใช้เด็ดขาดจากยากลุ่มอื่น ๆ

          – เครื่องวัดความดันโลหิต (ชนิดอัตโนมัติ) จำนวน 1 เครื่อง ในสภาพที่ใช้งานได้ตามมาตรฐาน

          – เครื่องชั่งน้ำหนักสำหรับผู้มารับบริการ จำนวน 1 เครื่อง ในสภาพที่ใช้งานได้ดี

          ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของสถานที่ขายยา ต้องดำเนินการตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในหมวดต่าง ๆ ดังนี้

          (1) หมวดบุคลากร ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

          – เภสัชกรเป็นผู้มีความรู้ ความสามารถในการให้การบริการทางเภสัชกรรมชุมชน

          – เภสัชกรจะต้องแต่งกายด้วยเสื้อกาวน์สีขาว ติดเครื่องหมายสัญลักษณ์ของสภาเภสัชกรรม และแสดงตนว่าเป็นเภสัชกร ทั้งนี้เป็นไปตามสมควร เหมาะสมแก่ฐานะและศักดิ์ศรีแห่งวิชาชีพเภสัชกรรม แสดงตนให้แตกต่างจากพนักงานร้านยาและบุคลากรอื่นภายในร้านขายยา

          – การแต่งกายพนักงานร้านยาและบุคลากรอื่นภายในร้านขายยา ต้องใส่สีเสื้อป้ายแสดงตน ไม่สื่อไปในทางที่จะก่อให้เกิดความเข้าใจว่าเป็นเภสัชกร

          (2) หมวดการควบคุมคุณภาพยา ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

          – ต้องมีการคัดเลือกยา และจัดหายาจากผู้ผลิต ผู้นำเข้า ผู้จำหน่ายที่ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยยา และมีมาตรฐานตามหลักเกณฑ์วิธีการที่ดีในการผลิต จัดเก็บ และการขนส่ง

          – ต้องมีการเก็บรักษายา ภายใต้สภาวะอุณหภูมิที่เหมาะสม หลีกเลี่ยงแสงแดด เป็นไปตามหลักวิชาการ เพื่อให้ยานั้นคงคุณภาพที่ดี

          – ต้องมีระบบตรวจสอบยาที่หมดอายุหรือเสื่อมคุณภาพที่มีประสิทธิภาพ เพื่อไม่ให้มีไว้ ณ จุดจ่ายยา

          – ต้องมีระบบการส่งคืนหรือทำลายยาที่หมดอายุ หรือยาเสื่อมคุณภาพให้ชัดเจน ถูกต้องตามหลักวิชาการ ไม่เป็นปัญหากับสิ่งแวดล้อมรวมถึงระบบการป้องกันการนำยาดังกล่าวไปจำหน่าย

          – ต้องมีระบบการตรวจสอบคุณภาพ ยาคืนหรือยาเปลี่ยนก่อนกลับมาจำหน่าย โดยคำนึงถึงประสิทธิภาพของยาและความปลอดภัยของผู้ใช้ยา

          – ต้องเลือกภาชนะบรรจุที่เหมาะสม เพื่อป้องกันไม่ให้ยาเสื่อมสภาพก่อนเวลาอันสมควรพร้อมฉลากยา

          (3) หมวดการให้บริการทางเภสัชกรรมกับผู้ป่วย ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

          – จัดให้มีแหล่งข้อมูลอ้างอิงด้านยาที่เหมาะสมเชื่อถือได้ สำหรับใช้ในการให้บริการทางเภสัชกรรมเพื่อส่งเสริมการใช้ยาอย่างถูกต้อง ปลอดภัย รวมทั้งการให้บริการเภสัชสนเทศ

          – การดำเนินกิจกรรมด้านสุขภาพที่เกี่ยวข้องกับผู้มารับบริการในร้านยาโดยบุคลากรอื่น ซึ่งมิใช่เภสัชกรหรือพนักงานร้านยา จะต้องได้รับคำยินยอมเป็นลายลักษณ์อักษรจากเภสัชกร และให้ถือเป็นความรับผิดชอบที่เภสัชกรจะต้องควบคุมกำกับการดำเนินกิจกรรมต่าง ๆ ในสถานที่ขายยาให้ถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยยาหรือกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องกับผลิตภัณฑ์สุขภาพนั้นๆ รวมทั้งกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม

          – ไม่จำหน่ายผลิตภัณฑ์ยาสูบและเครื่องดื่มที่มีส่วนผสมของแอลกอฮอล์

 

1.2 กรณีที่ต้องปฏิบัติภายใน 3 ปี

          ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ต้องดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน และข้อกำหนดด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการขายยา การเก็บและการควบคุมหรือการรักษาคุณภาพยา ให้เสร็จก่อน 1 กันยายน พ.ศ.2563 ดังนี้

          (1) ข้อกำหนดด้านสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ต้องปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนด ดังต่อไปนี้

          – สถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ต้องมีพื้นที่ขาย ให้คำปรึกษาและแนะนำการใช้ยาติดต่อกัน ขนาดไม่น้อยกว่า 8 ตารางเมตร ทั้งนี้ไม่รวมถึงพื้นที่เก็บสำรองยา โดยความยาวของด้านที่สั้นที่สุดของพื้นที่ต้องไม่น้อยกว่า 2 เมตร

          – กรณีมีพื้นที่เก็บสำรองยาเป็นการเฉพาะจะต้องมีพื้นที่เพียงพอ สำหรับการจัดเก็บรักษายาประเภทต่าง ๆ วัสดุและผลิตภัณฑ์อื่น ๆ อย่างเป็นระเบียบ เหมาะสม และไม่วางยาสัมผัสกับพื้นโดยตรง

          – สถานที่ขายยาต้องมีความมั่นคง มีทะเบียนบ้านที่ออกให้โดยส่วนราชการที่เกี่ยวข้อง ในกรณีที่เป็นอาคารชุด ต้องมีพื้นที่อนุญาตให้ประกอบกิจการไม่ใช่ที่พักอาศัย

          (2) ข้อกำหนดด้านอุปกรณ์ที่ใช้ในการขายยา การเก็บและการควบคุมหรือการรักษาคุณภาพยา ตามลักษณะและจำนวนไม่น้อยกว่าที่กำหนด ดังนี้

          – อุปกรณ์ที่วัดส่วนสูงสำหรับผู้มารับบริการ จำนวน 1 เครื่อง ในสภาพที่ใช้งานได้ดี

          – อุปกรณ์สำหรับดับเพลิง จำนวน 1 เครื่อง ในสภาพที่สามารถพร้อมใช้งานได้อย่างมีประสิทธิภาพอยู่ในบริเวณสถานที่เก็บยา

          ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของสถานที่ขายยา ต้องดำเนินการตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในหมวดต่าง ๆ ดังนี้

          (1) หมวดบุคลากร ต้องปฏิบัติ ดังต่อไปนี้

          – พนักงานร้านยา ต้องมีความรู้เกี่ยวกับกฎหมายยา และงานที่ได้รับมอบหมายจนสามารถปฏิบัติงานได้ดี และผ่านการอบรมอย่างต่อเนื่องและเพียงพอ

          – มีการแบ่งแยกบทบาท หน้าที่ และความรับผิดชอบของเภสัชกร พนักงานร้านยา และบุคลากรอื่นภายในร้านขายยาในการให้บริการไว้อย่างชัดเจน โดยคำนึงถึงความถูกต้องตามกฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรม

          (2) หมวดการให้บริการทางเภสัชกรรมกับผู้ป่วย ต้องปฏิบัติดังต่อไปนี้

          – การให้บริการทางเภสัชกรรม ตามหน้าที่ที่กฎหมายว่าด้วยยาและกฎหมายว่าด้วยวิชาชีพเภสัชกรรมต้องปฏิบัติโดยเภสัชกร

          – ต้องซักถามข้อมูลที่จำเป็นของผู้มารับบริการ เพื่อประกอบการพิจารณาก่อนเลือกสรรยา หรือผลิตภัณฑ์สุขภาพที่มีประสิทธิภาพ ปลอดภัย เหมาะสมกับผู้ป่วยตามหลักวิชาการสมเหตุสมผลตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพ

          – จัดให้มีฉลากบนซองบรรจุยาหรือภาชนะบรรจุยาอันตราย และยาควบคุมพิเศษที่ส่งมอบให้ผู้รับบริการโดยต้องแสดงข้อมูลอย่างน้อย ดังต่อไปนี้ คือ (1) ชื่อ ที่อยู่ของร้านขายยาและหมายเลขโทรศัพท์ที่สามารถติดต่อได้ (2) ข้อมูลเพื่อให้ผู้รับบริการใช้ยาได้อย่างถูกต้อง เหมาะสม ปลอดภัย ติดตามได้ ดังนี้ คือ วันที่จ่ายยา ชื่อผู้รับบริการ ชื่อยาที่เป็นชื่อสามัญทางยา หรือชื่อการค้า ความแรง จำนวนจ่าย ข้อบ่งใช้ วิธีใช้ยาที่ชัดเจนเข้าใจง่าย ตลอดจนฉลากช่วย คำแนะนำ คำเตือน หรือเอกสารให้ความรู้เพิ่มเติม (ถ้าจำเป็น) และลายมือชื่อเภสัชกร

          – การส่งมอบยาอันตราย ยาควบคุมพิเศษ ให้กับผู้มารับบริการเฉพาะรายต้องกระทำโดยเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการเท่านั้น พร้อมให้คำแนะนำ ตามหลักวิชาการและจรรยาบรรณแห่งวิชาชีพ โดยต้องให้ข้อมูลดังนี้ คือ ชื่อยา ข้อบ่งใช้ ขนาด และวิธีการใช้ ผลข้างเคียง (Side effect) (ถ้ามี) และอาการไม่พึงประสงค์จากการใช้ยา (Adverse Drug Reaction) ที่อาจเกิดขึ้น ข้อควรระวังและข้อควรปฏิบัติในการใช้ยา การปฏิบัติเมื่อเกิดปัญหาจากการใช้ยา

          – มีกระบวนการในการป้องกันการแพ้ยาซ้ำ ของผู้มารับบริการที่มีประสิทธิภาพเหมาะสม

          – มีกระบวนการคัดกรองและส่งต่อผู้ป่วยที่เหมาะสม

          – กรณีที่มีการผลิตยาตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพเวชกรรมหรือของผู้ประกอบโรคศิลปะที่สั่งสำหรับคนไข้เฉพาะราย หรือตามใบสั่งยาของผู้ประกอบวิชาชีพการสัตวแพทย์ สำหรับสัตว์เฉพาะราย และการแบ่งบรรจุยาในสถานที่ขายยา ให้คำนึงถึงการปนเปื้อน การแพ้ยา โดยต้องจัดให้มีสถานที่ อุปกรณ์ ตามที่กำหนดและเป็นไปตามมาตรฐานการประกอบวิชาชีพเภสัชกรรมด้านการผลิตยาสำหรับคนไข้เฉพาะรายของสภาเภสัชกรรม

          – ต้องจัดให้มีกระบวนการเฝ้าระวังอาการไม่พึงประสงค์ พฤติกรรมการใช้ยาไม่เหมาะสม ปัญหาคุณภาพยา และรายงานให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องทราบ

          – การจัดวางสื่อให้ความรู้และสื่อโฆษณาสำหรับผู้มารับบริการจะต้องได้รับคำยินยอมอย่างเป็นลายลักษณ์อักษรจากเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ และให้ถือเป็นความรับผิดชอบที่เภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการจะต้องควบคุม โดยจะต้องไม่โอ้อวด ไม่บิดเบือนความจริง ไม่สร้างความเข้าใจผิดให้ผู้บริโภค และต้องผ่านการอนุญาตถูกต้องตามกฎหมาย

 

1.3 กรณีที่ต้องปฏิบัติภายใน 25 มิถุนายน พ.ศ.2565

          ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน ต้องดำเนินการเกี่ยวกับสถานที่ขายยาแผนปัจจุบัน ให้เสร็จภายใน 25 มิถุนายน พ.ศ.2565 คือ ต้องมีบริเวณสำหรับให้คำปรึกษาและแนะนำการใช้ยา ต้องเป็นสัดส่วนแยกออกจากส่วนบริการอื่นอย่างชัดเจนมีพื้นที่พอสำหรับการให้คำปรึกษาและการจัดเก็บประวัติ รวมทั้งจัดให้มีโต๊ะเก้าอี้สำหรับเภสัชกรและผู้มารับคำปรึกษาอยู่ในบริเวณดังกล่าวพร้อมทั้งมีป้ายแสดงชัดเจน

ผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการของสถานที่ขายยา ต้องดำเนินการตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในหมวดควบคุมคุณภาพยา โดยต้องจัดให้มีระบบเอกสารที่เกี่ยวข้องกับการจัดหา จัดการคลังสินค้าและการจำหน่ายให้ถูกต้อง เป็นปัจจุบัน สามารถสืบย้อนได้

รูปสรุปสิ่งที่ต้องปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชนภายในระยะเวลาที่กำหนด

 

2. หากร้านขายยาแผนปัจจุบันไม่ปฏิบัติตาม ส่งผลอย่างไร

พระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 17 วรรคสอง กำหนดให้การขอต่ออายุใบอนุญาตและการอนุญาตให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่กำหนดในกฎกระทรวง เมื่อพิจารณากฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 ข้อ 16(2) กำหนดให้ผู้อนุญาตขายยาจะพิจารณาไม่ต่ออายุใบอนุญาตขายยา เมื่อปรากฏว่าไม่ผ่านการตรวจประเมินสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ดังนั้น หากไม่ปฏิบัติตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ก็อาจไม่ผ่านการตรวจประเมิน และไม่ได้รับการต่ออายุใบอนุญาตได้ สิ่งที่ต้องระวังเป็นพิเศษ คือ สิ่งที่เป็นข้อบกพร่องร้ายแรง (critical defect) ซึ่งเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้ไม่ผ่านการประเมินได้ง่าย

          นอกจากนี้ ประกาศที่เกี่ยวข้องซึ่งอาศัยอำนาจกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556 หากไม่ปฏิบัติให้เป็นไปตามที่กำหนดแล้ว สามารถถือว่าไม่ปฏิบัติการอื่นตามที่กำหนดในกฎกระทรวง ฝ่าฝืนพระราชบัญญัติยา พ.ศ.2510 มาตรา 26(7) และมาตรา 39(8) หากผู้รับอนุญาตไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 2,000 – 10,000 บาท หากเภสัชกรผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการไม่ปฏิบัติตามต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 – 5,000 บาท

 

เอกสารอ้างอิง

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง กําหนดระยะเวลาผู้รับอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน และผู้มีหน้าที่ปฏิบัติการ ต้องปฏิบัติตามกฎกระทรวงการขออนุญาตและการออกใบอนุญาตขายยาแผนปัจจุบัน พ.ศ. 2556. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 134 ตอนพิเศษ 215 ง วันที่ 31 สิงหาคม 2560 หน้า 27

ประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง การกำหนดเกี่ยวกับสถานที่ อุปกรณ์ และวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน ในสถานที่ขายยาแผนปัจจุบันตามกฎหมายว่าด้วยยา พ.ศ. 2557. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 131 ตอนพิเศษ 223 ง วันที่ 5 พฤศจิกายน 2557 หน้า 7

ประกาศสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไข ในการผ่านการตรวจประเมินตามวิธีปฏิบัติทางเภสัชกรรมชุมชน. ราชกิจจานุเบกษา เล่ม 133 ตอนพิเศษ 123 ง วันที่ 27 พฤษภาคม 2559 หน้า 17

___________

บทความนี้เผยแพร่ในวารสารวงการยา ฉบับเดือนกันยายน 2560

เรื่องนี้ถูกเขียนใน ยา และติดป้ายกำกับ , คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s