ความคืบหน้าแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน

 

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์

 

          เมื่อวันที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2560 สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) มีวาระการประชุมพิจารณาเห็นชอบรายงานของคณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ เรื่อง แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ซึ่งเป็นประเด็นสำคัญที่ต้องติดตามเกี่ยวกับโครงสร้างภาษีและการจัดเก็บภาษีซึ่งจะมีผลต่อการวางแผนประกอบกิจการในอนาคต

          ความเป็นมาของการศึกษาของการพิจารณาศึกษาเรื่องนี้ เนื่องจากการประชุมคณะอนุกรรมาธิการด้านจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน ครั้งที่ 13/2559 เมื่อวันพุธที่ 4 พฤษภาคม 2559 ได้พิจารณาแล้วเห็นว่า “ขณะนี้รัฐบาลมีภาระด้านรายจ่ายเพิ่มสูงขึ้น เนื่องจากการดำเนินการตามโครงการต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นและฟื้นฟูเศรษฐกิจของประเทศให้สามารถขับเคลื่อนต่อไปได้ แต่ในขณะเดียวกันปรากฏว่าผลการจัดเก็บรายได้ของรัฐไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่ตั้งไว้เท่าที่ควร”[1] นอกจากนี้ “ประเทศไทยยังไม่ได้มีการปฏิรูประบบภาษีอากรมาเป็นระยะเวลานาน ตั้งแต่ปี 2535 ที่เปลี่ยนจากการใช้ภาษีการค้ามาเป็นภาษีมูลค่าเพิ่ม โดยที่ผ่านมาการปรับปรุงโครงสร้างภาษีอากรส่วนใหญ่จะดำเนินการเป็นส่วนๆ เช่น การปรับขั้นและอัตราภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา การลดอัตราภาษีเงินได้นิติบุคคล การเพิ่มเพดานและอัตราภาษีสรรพสามิต และการปรับโครงสร้างอากรขาเข้าเป็นกลุ่มสินค้า เป็นต้น ซึ่งไม่ได้พิจารณาการปฏิรูปโครงสร้างภาษีอากรในภาพรวมทั้งระบบ”[2] จึงต้องมีการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน

 

ข้อเสนอแนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน[3]

          รายงานฉบับนี้จึงได้มีข้อเสนอแนวทางการปฏิรูประบบโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บภาษีต่างๆ ดังนี้

  1. การขยายฐานภาษี กำหนดให้ผู้ที่มีรายได้ แม้จะยังไม่ถึงเกณฑ์ต้องเสียภาษี ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษีเงินได้ด้วย เพื่อเป็นฐานข้อมูลในการเข้าสู่ระบบภาษีต่อไปในอนาคต
  2. การเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริหารจัดเก็บภาษี

                    2.1 ภาษีเงินได้นิติบุคคล กรมสรรพากรควรพิจารณาศึกษาข้อมูลเกี่ยวกับการกำหนดให้บริษัทหรือห้างหุ้นส่วนนิติบุคคลรายเดียวกันที่ประกอบธุรกิจในสาขาต่างๆหลายแห่ง จะต้องทำการแยกบัญชีรายได้และรายจ่ายของสาขาแต่ละแห่งแยกออกจากกัน เพื่อเสียภาษีในเขตพื้นที่ที่สาขานั้นๆ ตั้งอยู่โดยตรง โดยไม่ให้มีการรวมบัญชีเดียวกันเพื่อเสียภาษีอีกต่อไป (เช่นเดียวกับกรณีสหรัฐอเมริกา)

                    2.2 ภาษี e-Commerce ซึ่งปัจจุบันได้รับความนิยมและมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น แต่กรมสรรพากรไม่สามารถจัดเก็บภาษีเงินได้ของผู้ประกอบการในต่างประเทศได้ และไม่อาจตรวจสอบข้อมูลการชำระค่าบริการออนไลน์ผ่านบัตรเครดิต ทำให้การจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มไม่สามารถทำได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการจัดเก็บภาษีจากเงินได้จากการให้บริการดังกล่าวมีข้อจำกัดตามอนุสัญญาภาษีซ้อน ซึ่งจะยกเว้นการจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลต่างประเทศที่มีรายได้จากประเทศไทยและไม่มีสถานประกอบการถาวรในประเทศไทย จึงมีข้อเสนอแนะให้กรมสรรพากรควรพิจารณาศึกษาและดำเนินการในส่วนที่เกี่ยวข้องเพื่อจัดเก็บภาษีจากกรณีดังกล่าว และมีการกำหนดให้บริษัทข้ามชาติอาจจะต้องเข้ามาจัดตั้งสถานประกอบการถาวรในประเทศไทยด้วย ทั้งนี้ เพื่อเป็นการป้องกันและปราบปรามการกระทำผิดกฎหมายในรูปแบบอื่น ๆ อาทิ การกระทำความผิดเกี่ยวกับความมั่นคงของประเทศ

                    2.3 ภาษีมูลค่าเพิ่ม เนื่องจากปัจจุบันได้มีข้อตกลงทางการค้าระหว่างประเทศเกี่ยวกับ การลดอัตราภาษีศุลกากรลงเป็นจำนวนมาก ทำให้ประเทศต่างๆ ไม่สามารถจัดเก็บภาษีศุลกากรได้เช่นเดิม ส่วนกรณีของประเทศไทยมีการจัดเก็บภาษี VAT ในรูปแบบอัตราเดียว ย่อมอาจจะไม่เป็นการส่งเสริมสนับสนุนการค้าการลงทุน ของผู้ประกอบการภายในประเทศ จากกรณีดังกล่าว จึงมีข้อเสนอแนะว่า ควรมีการจัดเก็บในรูปแบบที่มีหลายอัตรา โดยพิจารณากำหนดจัดเก็บภาษีในอัตราที่แตกต่างกันในแต่ละประเภทสินค้า กล่าวคือ พิจารณาว่าสินค้าประเภทใดมีความจำเป็นในการนำเข้า ส่งออกและบริโภคภายในประเทศ นอกจากนี้ ควรมีการปรับเพิ่มอัตราการจัดเก็บภาษีมูลค่าเพิ่มจากเดิมอีกร้อยละ 1 โดยกำหนดให้นำรายได้จากการจัดเก็บภาษีในส่วนที่เพิ่มขึ้นดังกล่าวไปใช้เฉพาะในด้านการศึกษาและการสาธารณสุขเท่านั้น คาดว่าจะทำให้สามารถจัดเก็บรายได้เพิ่มขึ้นจำนวนประมาณ 60,000-70,000 ล้านบาท และควรมีการเผยแพร่ประชาสัมพันธ์ข้อมูลดังกล่าวให้ประชาชนทราบอย่างทั่วถึงผ่านช่องทางการสื่อสารต่าง ๆ ด้วย

                    2.4 ภาษีลาภลอย ปัจจุบันรัฐบาลมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐาน อาทิ การก่อสร้างรถไฟฟ้าความเร็วสูง ทำให้มูลค่าที่ดินเพิ่มสูงขึ้นหรือการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานอื่นๆ ที่ทำให้ที่ดินมีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น แต่รัฐบาลยังไม่สามารถจัดเก็บรายได้ดังกล่าวได้ ดังนั้น สำนักงานเศรษฐกิจการคลังควรมีการพิจารณาศึกษาแนวทางการจัดเก็บภาษีกรณีดังกล่าวโดยเปรียบเทียบกับการจัดเก็บภาษี (Windfall Gain Tax) ในต่างประเทศและควรเร่งรัดดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

                    2.5 อากรศุลกากรและภาษีมูลค่าเพิ่ม กรณีนำเข้าสินค้าที่มีราคาไม่เกิน 1,500 บาท ผ่านทางไปรษณีย์ จำกัด ซึ่งได้รับยกเว้นการจัดเก็บอากร และในปัจจุบันมีการขายสินค้าผ่านระบบออนไลน์โดยอาศัยช่องว่างของกฎหมายดังกล่าว ทำให้รัฐสูญเสียรายได้เป็นจำนวนมาก จึงมีข้อเสนอแนะให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรมสรรพากร กรมศุลกากร และสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ควรมีการพิจารณากฎหมายและหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องเพื่ออุดช่องว่างการจัดเก็บภาษีในกรณีสินค้านำเข้าที่ได้การยกเว้นอากร ตามประกาศกรมศุลกากรที่ 41/2558 เรื่อง กำหนดราคาของที่นำเข้า ซึ่งได้รับยกเว้นอากรตามประเภท 12 ภาค 4 แห่งพระราชกำหนดพิกัดอัตราศุลกากร พ.ศ.2530

                    2.6 อากรปกป้องสินค้านำเข้า อากรตอบโต้การทุ่มตลาด มีข้อเสนอแนะให้เข้มงวดการขอคืนภาษี กรมการค้างต่างประเทศและกรมศุลกากรควรมีการบูรณาการทำงานร่วมกัน และจัดฝึกอบรมเจ้าหน้าที่ผู้ปฏิบัติงานให้มีความรู้ ความเข้าใจในเรื่องกฎหมาย กฎ และระเบียบที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง

         

เอกสารอ้างอิง

คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (2560). แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน. กรุงเทพฯ: สำนักกรรมาธิการ 1 สำนักงานเลขาวุฒิสภา ปฏิบัติหน้าที่สำนักงานเลขาธิการสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

[1] คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, แนวทางการปฏิรูปโครงสร้างภาษีและระบบบริหารจัดเก็บเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการจัดเก็บรายได้ของแผ่นดิน, หน้า 1

[2] คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อ้างแล้ว, หน้า 2

[3] คณะกรรมาธิการการเศรษฐกิจ การเงินและการคลัง สภานิติบัญญัติแห่งชาติ, อ้างแล้ว, หน้า 55-58

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ภาษีและนิติบุคคล คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s