ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
เมื่อวันที่ 21 มีนาคม พ.ศ.2560 คณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ของกระทรวงการคลัง ที่สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณาแล้ว มีสาระสำคัญเป็นการกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการยกเว้นทรัพย์สินจากการจัดเก็บภาษี ฐานภาษี อัตราภาษี การคำนวณภาษี การลดหรือยกเว้นภาษี โดยยกเลิกพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน พ.ศ. 2475 พระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2508 และพระราชบัญญัติกำหนดราคาปานกลางของที่ดินสำหรับการประเมินภาษีบำรุงท้องที่ พ.ศ. 2529 และกำหนดหลักเกณฑ์เกี่ยวกับการเก็บภาษีจากที่ดินและสิ่งปลูกสร้างใหม่ ขณะนี้ ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ได้บรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 23/2560 เมื่อวันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2560 แล้ว[1] ที่ประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติมีมติรับหลักการเมื่อวันที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2560 ด้วยคะแนนเสียงเห็นด้วย 190 ต่อ 1 เสียง และงดออกเสียง 4 เสียง พร้อมตั้งกรรมาธิการวิสามัญเพื่อศึกษาจำนวน 26 คน กำหนดแปรญัตติภายใน 21 วัน มีกรอบเวลาดำเนินการ 60 วัน
ประโยชน์ของกฎหมายภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง
กฎหมายนี้จะช่วยแก้ไขปัญหาโครงสร้างของภาษีโรงเรือนและที่ดินและภาษีบำรุงท้องที่ให้สอดคล้องกับสภาวการณ์ปัจจุบัน และช่วยกระตุ้นให้มีการใช้ประโยชน์ในที่ดินให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น นอกจากนี้ การเก็บภาษีดังกล่าวกระทรวงการคลังคาดว่าจะมีรายได้เพิ่มขึ้น 3 – 6 หมื่นล้านบาท ปัจจุบันเก็บภาษีที่ดินและโรงเรือนได้แค่ 2 หมื่นล้านบาท[2] โดยจะเริ่มเก็บภาษีสำหรับที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ.2562 เป็นต้นไป
ฐานภาษี อัตราการจัดเก็บภาษีเป็นอย่างไร
ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. ซึ่งบรรจุในระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ได้กำหนดฐานภาษีเพื่อการคำนวณภาษี ได้แก่ มูลค่าทั้งหมดของที่ดินและสิ่งปลูกสร้างโดยให้ใช้ราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุด แล้วแต่กรณีเป็นเกณฑ์ในการคำนวณ สำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ไม่มีราคาประเมินทุนทรัพย์ให้คำนวณมูลค่าตามหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขตามที่กำหนดโดยกฎกระทรวง ทั้งนี้ ราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดิน สิ่งปลูกสร้าง และสิ่งปลูกสร้างที่เป็นห้องชุดนั้น ให้เป็นไปตามราคาประเมินทุนทรัพย์ของอสังหาริมทรัพย์เพื่อเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมตามประมวลกฎหมายที่ดินที่คณะอนุกรรมการประจำจังหวัดกำหนดโดยความเห็นชอบของคณะกรรมการกำหนดราคาประเมินทุนทรัพย์
ส่วนอัตราภาษีนั้น ได้มีการกำหนดอัตราสูงสุดที่สามารถจัดเก็บได้ ซึ่งอาจจะต่างจากข่าวที่ปรากฏก่อนหน้านั้น โดยกำหนดให้ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างให้จัดเก็บภาษีตามอัตรา ดังต่อไปนี้
(1) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์ในการประกอบเกษตรกรรม ต้องเป็นการทำนา ทำไร่ ทำสวน เลี้ยงสัตว์ เลี้ยงสัตว์น้ำ และกิจการอื่นตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด โดยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.2 ของฐานภาษี
(2) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ให้เป็นไปตามที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันกำหนด โดยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 0.5 ของฐานภาษี
(3) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกจาก (1) หรือ (2) ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษี
(4) ที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ทิ้งไว้ว่างเปล่าหรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ ให้เป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กำหนดในกฎกระทรวง โดยให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษี แต่ถ้าปล่อยทิ้งไว้หรือไม่ได้ทำประโยชน์ตามสมควรแก่สภาพ 3 ปีติดต่อกัน ในปีที่ 4 จะเรียกเก็บภาษีเพิ่มร้อยละ 0.5 และเพิ่มอัตราภาษีอีกร้อยละ 0.5 ทุก 3 ปี แต่อัตราภาษีที่รวมกันทั้งหมดแล้วต้องไม่เกินร้อยละ 5
อัตราภาษีที่จะจัดเก็บจริงนั้น ให้ตราเป็นพระราชกฤษฎีกา โดยจะกำหนดเป็นอัตราเดียวหรือหลายอัตราตามมูลค่าของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างก็ได้ ทั้งนี้ อัตราภาษีนั้นจะไม่เกินตามที่กำหนดในพระราชบัญญัติ ส่วนภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยนั้น จะกำหนดแยกประเภทการใช้ประโยชน์ด้วยก็ได้
นอกจากนี้ องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในท้องถิ่นนั้นจะเก็บภาษีในอัตราที่สูงกว่าในพระราชกฤษฎีกาก็สามารถทำได้ แต่ต้องไม่เกินอัตราที่กำหนดไว้ในพระราชบัญญัติ
หากที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างใดมีการใช้ประโยชน์หลายประเภท ให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจัดเก็บภาษีตามสัดส่วนของการใช้ประโยชน์ในที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทยร่วมกันประกาศกำหนด
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะต้องประกาศราคาประเมินทุนทรัพย์ของที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง อัตราภาษีที่จัดเก็บ และรายละเอียดอื่นที่จำเป็นในการจัดเก็บภาษีในแต่ละปี ณ สำนักงานหรือที่ทำการขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นก่อนวันที่ 1 กุมภาพันธ์ ของปีนั้น ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในกฎกระทรวง
อย่างไรก็ตาม กฎหมายนี้ก็ได้กำหนดมาตรการลดภาษีสำหรับที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างบางประเภท เพื่อให้เหมาะสมกับสภาพความจำเป็นทางเศรษฐกิจ สังคม เหตุการณ์ กิจการ หรือสภาพแห่งท้องที่ โดยตราเป็นพระราชกฤษฎีกา แต่ต้องไม่เกินร้อยละ 90 ของจำนวนภาษีที่จะต้องเสีย
นายอภิศักดิ์ ตันติวรวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง ได้ให้ข้อมูลว่า อัตราจัดเก็บจริงจะต่ำกว่าเพดานในพระราชบัญญัติมาก โดยจะมีการจัดเก็บภาษี ดังนี้[3]
(1) ยกเว้นการเก็บภาษีสำหรับที่ดินเกษตรและบ้านหลังหลัก มูลค่าไม่ถึง 50 ล้านบาท ไม่ต้องเสียภาษี
(2) ส่วนบ้านอยู่อาศัยหลังหลักที่เกินกว่า 50 ล้านบาท คิดอัตราภาษี 0.05% บ้านหลังที่ 2 เป็นต้นไป หากมีราคาไม่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.03% เกินกว่า 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.05%
(3) สำหรับที่ดินเกษตร ส่วนที่เกิน 50 ล้านบาท เสียภาษี 0.05% หรือทุก 1 ล้านบาท เสียภาษีเพียง 500 บาทเท่านั้น
(4) ที่ดินประเภทอื่นๆ เช่น พาณิชยกรรม โรงงาน มูลค่าต่ำกว่า 20 ล้านบาท เสียภาษี 0.3% หลังจากนั้นปรับภาษีแบบขั้นบันไดตามมูลค่า หากมีมูลค่าประมาณ 100 ล้านบาท เสียภาษี 0.9% สูงสุดกว่า 3,000 ล้านบาท เสียภาษี 1.5%
(5) ที่ดินว่างเปล่า ขณะนี้กำหนดเพดานที่ดินว่างเปล่าไว้ 2% ถ้าไม่ใช้ประโยชน์จะถูกปรับภาษีขึ้นทุก 3 ปี เพิ่มปีละ 0.5% เพดานสูงสุดที่ 5% ถ้าจะเสียภาษีเต็มเพดานใช้เวลานานเป็นสิบปี แต่กฎหมายฉบับนี้ยังมีมาตรการลดหย่อนภาษีไว้หลายประเภท เช่น โรงเรียนเอกชน เปิดช่องให้ลดหย่อนได้ถึง 90% ที่ดินสำหรับกลุ่มอสังหาริมทรัพย์รอการพัฒนาเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำ
การยกเว้นมูลค่าของฐานภาษี
กรณีที่ดินและสิ่งปลูกสร้างที่เจ้าของเป็นบุคคลธรรมดาใช้เป็นที่อยู่อาศัยและมีชื่ออยู่ในทะเบียนบ้านตามกฎหมายว่าด้วยทะเบียนราษฎรในวันที่ 1 มกราคม ของปีภาษีนั้น ให้ได้รับยกเว้นมูลค่าของฐานภาษีในการคำนวณภาษีไม่เกิน 50 ล้านบาท นั่นหมายความว่า จะคิดภาษีที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างเมื่อมูลค่าเกิน 50 ล้านบาท
การคำนวณภาษี
ให้ใช้ฐานภาษีของที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างหักด้วยมูลค่าของฐานภาษีที่ได้รับการยกเว้น (ไม่เกิน 50 ล้านบาท) คูณด้วยอัตราภาษีตามการใช้ประโยชน์ ผลลัพธ์ที่ได้เป็นจำนวนภาษีที่ต้องเสีย
การชำระภาษี
องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นจะส่งแบบประเมินภาษีให้แก่ผู้เสียภาษีภายในเดือนกุมภาพันธ์ ผู้เสียภาษีชำระภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี โดยชำระภาษีต่อองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น
ความกังวลของผู้ประกอบการ
เนื่องจากร่างกฎหมายกำหนดไว้ว่าที่ดินหรือสิ่งปลูกสร้างที่ใช้ประโยชน์อื่นนอกเหนือจากการประกอบเกษตรกรรมหรือเพื่อเป็นที่อยู่อาศัยนั้น ให้มีอัตราภาษีไม่เกินร้อยละ 2 ของฐานภาษี ทำให้อาจกระทบต่อผู้ประกอบการเอสเอ็มอี ซึ่งจะเข้าข่ายอัตราภาษีนี้ด้วย และผู้บริโภคก็จะได้รับผลกระทบจากภาษีเช่นกัน[4] อย่างไรก็ตาม ควรติดตามอัตราเก็บจริงจากพระราชกฤษฎีกาหรือข้อบัญญัติองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นอีกครั้ง
_________
เอกสารอ้างอิง
[1] ร่างพระราชบัญญัติภาษีที่ดินและสิ่งปลูกสร้าง พ.ศ. …. . เอกสารประกอบระเบียบวาระการประชุมสภานิติบัญญัติแห่งชาติ ครั้งที่ 23/2560 วันศุกร์ที่ 31 มีนาคม พ.ศ.2560
[2] สยามธุรกิจ. คอลัมน์ ทะลุกลางปล้อง: หงุดหงิดแก้ศก.เหลว! สะท้อนวัฏฏะ’ขาลง’. ฉบับวันที่ 8 เมษายน พ.ศ.2560 หน้า 2
[3] มติชนสุดสัปดาห์. จากภาษีมรดกถึงภาษีที่ดิน รื้อ-แก้-ลดหย่อนเอาใจฝุด ๆ แค่ล้างอาถรรพ์…เพิ่มรายได้รัฐยังห่างเป้า. ฉบับวันที่ 31 มีนาคม-6 เมษายน 2560. สืบค้นจาก https://www.matichonweekly.com/featured/article_30138
[4] ฐานเศรษฐกิจ. ชงรีดภาษีบ้านเกิน 3 ล้าน. ฉบับวันที่ 30 มีนาคม พ.ศ. 2560 หน้า 1-2