ความคืบหน้าการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว

ภก.ปรุฬห์ รุจนธำรงค์
บทความนี้เผยแพร่ใน วารสารยา สมาคมร้านขายยา ฉบับเดือนกุมภาพันธ์ 2560

          กรมพัฒนาธุรกิจการค้าได้ยกร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว (เปลี่ยนชื่อมาจากร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียว) ซึ่งได้นำเสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2560 ซึ่งมีพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นประธาน ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีได้มีมติเห็นชอบให้มีกฎหมายในการจัดตั้งบริษัทคนเดียว มีสาระสำคัญเป็นการให้บุคคลคนเดียวเป็นเจ้าของบริษัทและจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลได้ตามที่กระทรวงพาณิชย์เสนอ[1]

 

สถานการณ์ก่อนมีกฎหมายการจัดตั้งบริษัทคนเดียวของประเทศไทย

          ในต่างประเทศ ประเทศที่มีกฎหมาย “One man Company” หรือการจัดตั้งบริษัทคนเดียว มี 12 ประเทศ คืออังกฤษ สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น สิงคโปร์ อินเดีย นิวซีแลนด์ แคนาดา เนเธอร์แลนด์ อิตาลี จีน และในอาเซียน คือ เวียดนาม และสิงคโปร์ ส่วน มาเลเซียอยู่ระหว่างการศึกษาออกเป็นกฎหมาย

          กรณีของประเทศไทย จากการสำรวจข้อมูลของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ รายงานว่า “ปัจจุบันบริษัทที่จดทะเบียนเป็นนิติบุคคลประมาณ 4 แสนราย มีสัดส่วนผู้ถือหุ้น ซึ่งเป็นผู้ถือหุ้นใหญ่ที่มีการถือหุ้นเกิน กว่า 90% มากถึง 82% ของบริษัททั้งหมด ขณะที่บุคคลที่ถือหุ้นในบริษัท ในสัดส่วน 50% มีมากถึง 98% ของบริษัททั้งหมดเท่ากับว่าในทางปฏิบัติบุคคลที่เป็นเจ้าของบริษัทนั้นส่วนใหญ่เป็นบุคคลคนเดียวอยู่แล้วแต่กฎหมายการจัดตั้งธุรกิจปัจจุบันไม่เอื้อให้จัดตั้งบริษัทนิติบุคคลโดยคนเดียวได้ เนื่องจากกำหนดว่าต้องมีผู้ถือหุ้นไม่ต่ำกว่า 3 คน ทำให้มีการไปจัดหาตัวแทนหรือนอมินีมาถือหุ้นให้ครบองค์ประกอบ  การแก้ไขกฎหมายให้สามารถจัดตั้งบริษัทโดยคนคนเดียวได้จะสามารถแก้ปัญหาดังกล่าวได้ โดยเงื่อนไขของการจัดตั้งบริษัทจำกัดโดยบุคคลคนเดียว ประกอบไปด้วยผู้จัดตั้งบริษัทต้องมีสัญชาติไทย โดยมิให้มีการให้คนต่างด้าวมาเป็นเจ้าของกิจการหรือตัวแทน (นอมินี)”[2]

 

ความคาดหวังของกฎหมายฉบับนี้

          ทิศทางของรัฐบาลต้องการส่งเสริมให้บุคคลธรรมดาที่ประกอบธุรกิจในรูปแบบนิติบุคคล ซึ่งจะทำให้ผู้ประกอบธุรกิจแสดงผลประกอบการที่แท้จริง ธุรกิจมีความโปร่งใส ตรวจสอบได้ง่าย อีกทั้งจะทำให้รัฐบาลจัดเก็บภาษีเพิ่มขึ้นได้ประมาณ 4,200 ล้านบาท[3]

          อธิบดีกรมพัฒนาธุรกิจการค้า ยังเคยกล่าวด้วยว่า การจัดตั้งนิติบุคคลโดยบุคคลคนเดียวจะเป็นกฎหมายสำคัญที่ช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจที่ประสงค์จะดำเนินธุรกิจด้วยตนเองได้มีโอกาสจัดตั้งธุรกิจ ลดปัญหาความขัดแย้ง ทางธุรกิจ และยังสามารถทำให้บุคคลคนเดียวที่ต้องการจะทำธุรกิจสามารถจดทะเบียนจัดตั้งธุรกิจได้ง่ายขึ้น ลดต้นทุนการจ้างพนักงานบัญชี โดยสามารถจ้างผู้ตรวจสอบบัญชีมืออาชีพข้างนอกที่ได้รับการรับรองจากกรมได้ และยังสะดวกในการบริหารจัดการ และยังสามารถจดเลิกง่าย และหากเลิกแล้วก็สามารถทำธุรกิจเกิดใหม่ได้ ในขณะที่หากมีกรรมการหลายคน หากมีปัญหาขัดแย้งกันจะมีการฟ้องร้องใช้เวลานานที่จะเริ่มธุรกิจได้ใหม่[4]

          ร่างกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมีหลักการสำคัญที่จะให้ผู้ประกอบธุรกิจโดยเฉพาะผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าสู่ระบบด้วยการจดทะเบียนเป็นนิติบุคคลตามกฎหมาย ในอันที่จะสร้างผู้ประกอบการให้มีความเข้มแข็ง มีศักยภาพ เพื่อให้ภาครัฐใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการดำเนินการตามทิศทางที่สอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลในปัจจุบันที่พยายามส่งเสริมมาตรการกระตุ้นการลงทุนขนาดเล็ก และมาตรการการเงินการคลังเพื่อสร้างแรงจูงใจให้ผู้ประกอบการวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) เข้าสู่ระบบเพื่อจะได้เข้าถึงสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ที่ภาครัฐจัดให้ และยังเป็นการอำนวยความสะดวกให้แก่ภาคเอกชนที่ประสงค์จะประกอบธุรกิจเพียงคนเดียวโดยไม่ประสงค์จะร่วมลงทุนกับบุคคลอื่นหรือไม่สามารถหาผู้ร่วมลงทุนรายอื่นได้ ซึ่งจะเป็นการลดปัญหาข้อพิพาทระหว่างผู้ถือหุ้นของบริษัทด้วยกันเอง รวมทั้งยกระดับประเทศไทยให้เป็นประเทศที่ง่ายต่อการเริ่มต้นธุรกิจ (Ease of Doing Business) และเป็นการใช้กฎหมายเป็นเครื่องมือในการส่งเสริมจริยธรรม คุณธรรม ความโปร่งใสเพื่อลดความได้เปรียบเสียเปรียบการดำเนินธุรกิจ[5]

          ทั้งนี้ คาดว่าจะมีการจดทะเบียนตั้งนิติบุคคลคนเดียวเพิ่มขึ้นอีกกว่า 1 เท่าตัว หรือเพิ่มขึ้นจากเดิมที่มีนิติบุคคลอยู่แล้วประมาณ 6 แสนราย เพิ่มเป็น 1.2 ล้านราย ภายใน 2 ปี

 

สาระสำคัญของกฎหมายฉบับนี้

          สาระสำคัญของกฎหมายที่กระทรวงพาณิชย์เสนอมีทั้งหมด 9 หมวด 64 มาตรา[6] ประกอบด้วย

          หมวดที่ 1 บททั่วไป ซึ่งกำหนดความเป็นนิติบุคคลของบริษัทที่จัดตั้งโดยบุคคลเดียว (ต้องมีคำว่า “บริษัท…จำกัด (คนเดียว)” และสิ่งที่บริษัทต้องปฏิบัติ เช่น การจัดให้มีป้ายชื่อที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ การแสดงชื่อ ที่ตั้งสำนักงาน และเลขทะเบียนบริษัทไว้ในจดหมายประกาศ ใบส่งของและใบเสร็จรับเงิน

          หมวดที่ 2 การจัดตั้งบริษัท ได้กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของเจ้าของบริษัท วิธีการในการจดทะเบียนจัดตั้งบริษัทโดยบุคคลคนเดียว ข้อบังคับของบริษัทและการจัดตั้งสำนักงานสาขา กำหนดเรื่องใบสำคัญการลงทุน ต้องมีชื่อบริษัท มูลค่าของเงินและทรัพย์สินที่ลงทุน และชื่อผู้ลงทุน

          หมวดที่ 3 การบริหารจัดการ กำหนดให้เจ้าของบริษัทต้องมีสัญชาติไทย และไม่เคยต้องโทษ จำคุกตามคำสั่งศาลถึงที่สุดหรือถูกเปรียบเทียบปรับในความผิดฐานให้ความช่วยเหลือ สนับสนุน หรือร่วมประกอบธุรกิจในลักษณะลงทุนแทนคนต่างด้าว เว้นแต่พ้นโทษแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี เจ้าของบริษัทอาจแต่งตั้งตนเองหรือบุคคลอื่นตั้งแต่หนึ่งคนขึ้นไปเป็นกรรมการเพื่อบริหารจัดการตามข้อบังคับของบริษัท และอยู่ในความครอบงำของเจ้าของบริษัท กำหนดคุณสมบัติของกรรมการ การพ้นจากตำแหน่งของกรรมการ และการดำเนินกิจการของกรรมการ อาทิ การบัญชี การจัดให้มีผู้ทำบัญชี และงบการเงิน

          หมวดที่ 4 การจ่ายเงินปันผล กำหนดให้การจ่ายเงินปันผลต้องจ่ายจากเงินกำไรเท่านั้น กรณีบริษัทมียอดขาดทุนสะสมอยู่ห้ามมิให้จ่ายเงินปันผล และต้องจัดสรรกำไรประจำปีส่วนหนึ่งไว้เป็นทุนสำรองไม่น้อยกว่า 5% ของกำไรสุทธิประจำปี จนกว่าทุนสำรองนี้จะมีจำนวนไม่น้อยกว่า 10% ของทุนจดทะเบียน

          หมวดที่ 5 การเพิ่มทุนและการลดทุน กำหนดให้บริษัทอาจเพิ่มทุน หรือลดทุนของบริษัทจากจำนวนที่จดทะเบียนไว้แล้วได้ ด้วยความเห็นชอบของเจ้าของบริษัท แต่จะลดทุนต่ำกว่าจำนวนหนึ่งในสี่ของทุนทั้งหมดไม่ได้ และกำหนดขั้นตอน วิธีการที่บริษัทต้องปฏิบัติก่อนการดำเนินการลดทุน

          หมวดที่ 6 การแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด กำหนดวิธีการแปรสภาพจากบริษัทจำกัดคนเดียว เป็นบริษัทจำกัดตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 3 ลักษณะ 22 ว่าด้วยหุ้นส่วนและบริษัท กล่าวคือ บริษัทอาจปรับโครงสร้างการลงทุนโดยการแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด โดยจัดหาผู้ร่วมลงทุนหรือผู้ถือหุ้นให้ครบเป็นองค์ประกอบในการจัดตั้งบริษัทจำกัด แจ้งความประสงค์ที่จะแปรสภาพเป็นบริษัทจำกัด โดยประกาศโฆษณาในหนังสือพิมพ์แห่งท้องที่ อย่างน้อยหนึ่งคราว และมีหนังสือบอกกล่าวไปยังบรรดาผู้ซึ่งรู้ว่าเป็นเจ้าหนี้ของบริษัทบอกให้ทราบรายการที่ประสงค์จะปรับโครงสร้างการลงทุนเป็นบริษัทจำกัด และขอให้เจ้าหนี้ผู้มีข้อคัดค้านอย่างหนึ่งอย่างใดในการปรับโครงสร้างการลงทุนเป็นบริษัทจำกัดนั้นส่งคำคัดค้านไปภายในสามสิบวันนับแต่วันที่บอกกล่าวนั้น ถ้ามีการคัดค้านบริษัทจะปรับโครงสร้างการลงทุนมิได้จนกว่าจะได้ชำระหนี้หรือให้ประกันเพื่อหนี้นั้นแล้ว

          หมวด 7 การเลิกบริษัท กำหนดเหตุในการเลิกบริษัท ประกอบด้วย (1) เมื่อเจ้าของบริษัทตาย เว้นแต่บริษัทตกทอดเป็นมรดกแก่ทายาทตามประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ บรรพ 6 มรดก และทายาทประสงค์จะดำเนินธุรกิจต่อไป (2) เมื่อเจ้าของบริษัทล้มละลาย หรือตกเป็นคนไร้ความสามารถ  (3) เมื่อสิ้นกำหนดเวลา หรือเมื่อมีกรณีหรือมีเงื่อนไข ตามที่ระบุในรายการจดทะเบียนเกิดขึ้นให้เป็นเหตุเลิกบริษัท และเจ้าของบริษัทไม่เห็นชอบให้มีการขยายกำหนดเวลาออกไป (4) ศาลสั่งให้เลิกบริษัทตามที่มีผู้ร้องขอ เพราะไม่เริ่มทำการภายในปีหนึ่งนับแต่วันจดทะเบียนหรือหยุดทำการถึงปีหนึ่งเต็ม หรือตามที่กฎหมายอื่นกำหนด (5) เจ้าของบริษัทมีความประสงค์ให้เลิก (6) นายทะเบียนสั่งให้เลิก (7) เหตุอื่นใดตามกฎหมายนี้ หรือกฎหมายอื่น นอกจากนี้ร่างกฎหมายยังได้กำหนดเรื่องการตั้งผู้ชำระบัญชี การจดทะเบียนยกเลิก และชำระบัญชี

          หมวด 8 การถอนทะเบียนร้าง กำหนดเกี่ยวกับเหตุ และขั้นตอนในการถอนทะเบียนร้าง

          หมวด 9 บทกำหนดโทษ กำหนดลักษณะการกระทำเป็นผู้ช่วยเหลือ สนับสนุน มีอำนาจครอบงำ มีอำนาจควบคุมแทนคนต่างด้าว ตามกฎหมายว่าด้วยการประกอบธุรกิจของคนต่างด้าว รวมถึงผู้ยินยอมด้วย กำหนดโทษทางแพ่ง และบทกำหนดโทษทางอาญาที่กระทำหรืองดเว้นการกระทำ

          นอกจากนี้ ร่างกฎหมายนี้ยังได้กำหนดอัตราค่าธรรมเนียมในการดำเนินการทางทะเบียนของบริษัทจำกัดคนเดียว ซึ่งมีอัตราไม่เกินที่กำหนดดังนี้

                    (1) การจดทะเบียนบริษัท 2,000 บาท

                    (2) การจดทะเบียนแก้ไขเพิ่มเติมข้อบังคับ 500 บาท

                   (3) การจดทะเบียนเพิ่มทุน 500 บาท

                   (4) การจดทะเบียนลดทุน 500 บาท

                   (5) การจดทะเบียนเลิกบริษัท 500 บาท

                   (6) การจดทะเบียนเรื่องอื่นๆ เรื่องละ 500 บาท

                    (7) การออกใบสำคัญหรือใบแทนใบสำคัญแสดงการจดทะเบียน ฉบับละ 200 บาท

                   (8) การตรวจเอกสาร ครั้งละ 100 บาท

                    (9) การขอสำเนาหรือขอให้ถ่ายเอกสารพร้อมทั้งคำรับรอง ฉบับละ 100 บาท

                   (10) การรับรองข้อความในทะเบียน เรื่องละ 100 บาท

 

ขั้นตอนต่อไปของร่างกฎหมายฉบับนี้

          มติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 24 มกราคม พ.ศ.2560 ได้มอบหมายให้ให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีการับร่างพระราชบัญญัติฉบับนี้ไปพิจารณาแก้ไขในกฎหมายที่เกี่ยวข้องแทนการตราเป็นกฎหมายเฉพาะ[7] โดยให้รับความเห็นของกระทรวงยุติธรรม ธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) ที่เห็นควรว่าการกำหนดความรับผิดในหนี้ของบริษัทของเจ้าของบริษัทควรกำหนดให้เจ้าของบริษัทต้องมีความรับผิดร่วมกับกรรมการบริษัท การกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการดำเนินการให้ชัดเจนกรณีบริษัทหรือเจ้าของบริษัทล้มละลายจะดำเนินการอย่างไร การกำหนดทุนจดทะเบียนขั้นสูง การกำหนดให้บุคคลคนหนึ่งสามารถเป็นเจ้าของบริษัทคนเดียวได้หนึ่งบริษัทเพื่อป้องกัน Nominee และกรณีบริษัทต้องเลิกกิจการ ควรมีกรรมการชั่วคราวเพื่อความต่อเนื่องของกิจการไปประกอบพิจารณาด้วย แล้วนำเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาอีกครั้งหนึ่ง

__________

เอกสารอ้างอิง

[1] สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี. ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. . สืบค้นจาก http://cabinet.soc.go.th/soc/Program2-3.jsp?top_serl=99322849 (สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560)

[2] กรุงเทพธุรกิจ ครม.ไฟเขียวพ.ร.บ.จัดตั้งบริษัทคนเดียว. ฉบับวันที่ 25 มกราคม พ.ศ. 2560 หน้า 5

[3] กรุงเทพธุรกิจ. เอื้อภาคธุรกิจตั้งบริษัทคนเดียว: ครม.งัดมาตรการดึงเอกชนเข้าระบบภาษี. กรุงเทพธุรกิจ ฉบับวันที่ 10 สิงหาคม พ.ศ. 2559 หน้า 5

[4] แนวหน้า. ร่างกม.’นิติบุคคลคนเดียว’ พาณิชย์หวังดึง SME 2.8 ล้านรายเข้าระบบ. แนวหน้า ฉบับวันที่ 13 พฤศจิกายน พ.ศ. 2558 หน้า 9

[5] สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี. สรุปข่าวการประชุมคณะรัฐมนตรี 24 มกราคม 2560. สืบค้นจาก http://www.thaigov.go.th/index.php/th/news-summary-cabinet-meeting/item/download/4485 (สืบค้นเมื่อ 7 กุมภาพันธ์ 2560)

[6] หนังสือกระทรวงพาณิชย์ ด่วนที่สุด ที่ พณ 0803/5485 ลงวันที่ 13 ธันวาคม 2559 เรื่อง ร่างพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว พ.ศ. …. ถึงเลขาธิการคณะรัฐมนตรี

[7] นั่นหมายความว่าอาจจะดำเนินการแก้ไขในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์แทนการตราพระราชบัญญัติการจัดตั้งบริษัทจำกัดคนเดียว

ข้อความนี้ถูกเขียนใน ภาษีและนิติบุคคล คั่นหน้า ลิงก์ถาวร

ใส่ความเห็น

Fill in your details below or click an icon to log in:

WordPress.com Logo

You are commenting using your WordPress.com account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Facebook photo

You are commenting using your Facebook account. Log Out /  เปลี่ยนแปลง )

Connecting to %s